พระมหาอภิชาติถูกบังคับให้สึก? ด้านความมั่นคงรัฐลงโทษได้หรือไม่?
21 กันยายน 2560 เป็นประเด็นร้อนที่รัฐเข้ามาจัดการศาสนา ให้พระสงฆ์ลาสิขา โดยอาจารย์ ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
ประเด็นแรกเรื่องการจับพระสึก ขอเรียนว่า ในแนวทางของรัฐโลกวิสัยนั้น หากนักบวชทำผิดกฎหมาย รัฐสามารถจับนักบวชได้ รัฐลงโทษนักบวชตามกฎหมายได้ จับพระขังคุกก็ได้
...แต่รัฐจะจับพระสึกไม่ได้เพราะเรื่องการบวชหรือการสึกเป็นเรื่องทางศาสนา และรัฐไม่มีสิทธิและหน้าที่ไปยุ่งเกี่ยวกับความเชื่อและสถานภาพทางศาสนาของใครทั้งสิ้น
แต่การที่รัฐไทยจับพระสึก ก่อนลงโทษทางกฎหมายอื่น ๆ (ถ้ามี) ก็เพราะร้ฐดำรงบทบาทเป็นเจ้าขององค์กรศาสนา (บางศาสนา) ด้วย รัฐจึงมีอำนาจทั้งทางโลกและทางธรรม(ของศาสนั้น)ไปโดยปริยาย
และเมื่อรัฐต้องมีหน้าที่รักษาภาพลักษณ์ของศาสนาที่ตนเป็นเจ้าของด้วย ก็เลยต้องจับพระสึกก่อนลงโทษทางอาญา ซึ่งถ้าเป็นพระนักบวชของศาสนาอื่น ก็จะจับขังไปเลย ไม่ต้องจับสึกก่อน เพราะรัฐไม่ถือว่าตนเป็นเจ้าขององค์กรศาสนาเหล่านั้น และไม่ต้องปกป้องศาสนาเหล่านั้น
ทีนี้มาถึงประเด็นว่า พระรูปดังกล่าวมีความผิดมากจนสมควรถูกจับสึกหรือไม่นั้น อันนี้พิจารณาได้หลายแง่ ตามแต่ทัศนะทางศาสนาของแต่ละคน
ถ้าคนที่มองมุมว่าจะจับสึกได้ต้องทำผิดปาราชิกเท่านั้น ถ้าคิดแบบนี้ก็คงจับสึกไม่ได้ และที่จริงการทำผิดทางโลกหลายอย่าง ที่หลักกฎหมายของโลกอาจถือว่าผิดร้ายแรงแต่ก็ไม่เข้าข่ายปาราชิกเช่นกัน
เช่นกรณีนี้พระท่านแสดงการวิจารณ์และข่มขู่อาฆาตศาสนิกชนของศาสนาอื่นในทางสาธารณะอย่างรุนแรง และอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งไม่ยอมหยุดแม้ว่าจะได้รับการร้องขอตักเตือนจากเจ้าหน้าที่รัฐหลายครั้ง
เรื่องแบบนี้ถ้าเอากฎเกณฑ์ปาราชิกมาวัดก็คงไม่ผิด แต่ถ้าเอาหลักรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ทั่วไปมาวัดก็ผิดอาญา (ที่จริงพระเสพยาก็ไม่ผิดปาราชิกเช่นกันนะ)
แต่กรณีนี้รัฐทำตรงกันข้าม คือจับสึกแต่ไม่ได้ให้มีโทษทางกฎหมายอาญา (เพราะไม่เห็นการระบุความผิดตามมาตรากฎหมายอะไรทั้งสิ้น) ซึ่งถ้าเป็นรัฐโลกวิสัยท่านจะไม่ถูกจับสึกแต่มีโทษทางอาญา
คนก็เลยลือกันว่าจับสึกเพราะกลัวปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนา ลือกันไปเลยเถิดจนถึงขั้นว่าจับสึกเพราะเกรงใจศาสนาคู่กรณีมากกว่าศาสนาของตัวเองและยังลือโน่นนั่นนี่ไปกันใหญ่เลย
รากเหง้าของปัญหานี้มาจากการที่ไทยเป็นรัฐศาสนา ไม่ได้เป็นรัฐโลกวิสัย ซึ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งเช่นนี้ยังจะมีไปเรื่อยๆ และก็เป็นประเด็นความขัดแย้งที่ไม่เหมือนกับในตะวันตก ในตะวันตกเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนาอิสลามกับแนวทางเสรีภาพ-เสมอภาคและประโยชน์ของสังคมโดยรวม
แต่ในไทยเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนาอิสลามกับศาสนาพุทธ
...ซึ่งกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
@ศาสนวิทยา dr.Sinchai Chaojaroenrat
https://www.facebook.com/dr.sinchai.chaojaroenrat/posts/1597258826986294