“ข้ามถนน…ให้ใช้สะพานลอย” เชื่อว่านี่เป็นวลีฝังหัวที่พวกเราถูกพร่ำสอนพร่ำเตือนมาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งก็ทำตามได้ดี เจอสะพานลอยก็ข้ามตามที่บอก

แต่แล้วเมื่อไปญี่ปุ่น ก็พบว่าการสัญจรด้วยเท้าตามบ้านเมืองมักเป็นแนวราบ คือนอกจากจุดเชื่อมฟุตปาธ
ต่างๆ จะเป็นแบบ Stepless (ไร้ขั้น) แล้ว ยังพบว่าแทบไม่มีสะพานลอยให้เห็นเลย ไม่ใช่ว่าไม่มี ยังพอมีอยู่บ้างแต่น้อยมากๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปริมาณผู้คนที่มหาศาล


เห็นผู้คนข้ามทางม้าลายได้ชิวๆ สะพานลอยน้อยมาก

การเกิดขึ้นของสะพานลอย สามารถมองในมุม Win-Win ได้สองแง่คือ คนไม่ต้องรอสัญญาณไฟข้าม แถมข้ามได้อย่างปลอดภัย และรถลื่นไหลได้สะดวกขึ้นเพราะไม่ต้องหยุดให้คนข้าม แต่แล้วทำไมที่ญี่ปุ่นถึงแทบไม่มีสะพานลอยเลยล่ะ?

นั่นเป็นเพราะคนญี่ปุ่นเชื่อว่าสะพานลอยเป็นการกีดกัน จนไปถึงทำลาย “การเข้าถึง” (Accessibility) ของคนบางกลุ่ม แน่นอนว่าไม่ใช่กลุ่มคนหนุ่มสาวที่ร่างกายยังแข็งแรงกระฉับกระเฉง แล้วกลุ่มไหน?

คำตอบคือ…กลุ่มผู้สูงวัย ผู้ใช้ไม้เท้า ผู้ปั่นจักรยาน ผู้ลากกระเป๋าเดินทาง ผู้ใช้รถเข็น ฯลฯ จนไปถึงคนที่
ขี้เกียจเดินขึ้นข้ามเพราะมันเมื่อย!

ยิ่งประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มตัวมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว คนแก่เดินกันเต็มบ้านเต็มเมือง ขั้นบันไดสะพานลอยที่หนุ่มสาวเดินขึ้นได้ชิลๆ นั้น กลับเป็นเรื่องลำบากยากเย็นสำหรับพวกเขา!


เพราะสะพานลอยในตัวมันเอง…กีดกันการเข้าถึงของคนบางกลุ่ม

ขาเจ็บหรือใช้ไม้เท้า ก็คงเดินขึ้นสะพานไม่ไหว

ยังไม่ต้องพูดถึง “ค่าก่อสร้าง” ที่ใช้ในแต่ละครั้ง เพราะยังไงแล้วต้นทุนวัสดุของสะพานลอยก็แพงกว่าการทาสีบนทางม้าลายแน่ๆ ไหนจะยังมี “ค่าบำรุงรักษา” ของสะพานลอยที่สูงและซับซ้อนกว่าทางม้าลาย เพราะถ้าหากสีทางม้าลายเริ่มซีดจาง ก็อาจแค่ทาสีใหม่ แต่ถ้าสะพานลอยเก่าเริ่ม ทรุดโทรม สนิมขึ้น อาจถึงกับต้องโละทิ้งแล้วสร้างใหม่เลยทีเดียว อีกจุดหนึ่งที่น่ากังวลคือ กลุ่มมิจฉาชีพ (ถึงแม้ว่านานๆจะเกิดขึ้นสักครั้ง) บนพื้นที่จำกัดของสะพานลอย (ซึ่งหาทางหนีทีไล่ได้ยาก) การป้องกันเหตุการณ์นี้อาจต้องมาพร้อมกับ ไฟส่องสว่างและกล้องวงจรปิด (ล้วนเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น)


ดึกๆ ข้ามสะพานลอยคนเดียว ก็น่าหวาดเสียวอยู่นะ

พื้นที่สาธารณะทางกายภาพของเมืองในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้กว้างขวางมากนัก เมื่อเกิดการสร้างสะพานลอย นั่นหมายถึงพื้นที่ฟุตปาธจะสูญเสียไป ทางม้าลายจึงดูเป็นทางออกที่ดีและง่ายกว่า และหากรวมความถี่ของการเกิด “แผ่นดินไหว” สะพานลอยก็ดูจะสุ่มเสี่ยงไม่น้อยในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง
โครงสร้างอาจพังทลายลงมาได้

นอกจากนี้หากมองในเชิงความสวยงามของสภาพแวดล้อม สะพานลอยที่โครงสร้างบดบังสถานที่สำคัญหรือมีดีไซน์ที่ไม่ค่อยสวยงาม ไม่เข้ากับสภาพแวดล้อม อาจถูกมองว่าเป็น “ทัศนอุจาด” ได้ คือดูเกะกะตา บั่นทอนความลงตัวสวยงามของพื้นที่แวดล้อมนั้นๆไปด้วย


บางแห่งสร้างมานาน สนิมขึ้นแล้ว ดูสกปรกไม่สวยงาม

ลองนึกภาพแยกชิบุยะแบบมีสะพานดูลอยสิ…คุณพระ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าญี่ปุ่นไม่มีสะพานลอยเลย ยัง (อาจจำเป็น) ต้องมีอยู่ในพื้นที่ที่ผู้คนสัญจรกันมหาศาล อย่างบริเวณรอบๆ สถานีรถไฟใหญ่ สะพานลอยเหล่านี้จะมีขนาดใหญ่มาก ส่วนใหญ่ไม่ใช่แค่เพื่อข้ามถนน แต่ทำหน้าที่ “ป้อน” ผู้คนเข้าสู่สถานี อย่างเช่น สะพานลอยหน้าสถานีอุเอโนะในโตเกียว หรือไม่ก็สะพานลอยที่เชื่อมระหว่างอาคารสำนักงานในย่านธุรกิจ


สะพานลอยหน้าสถานีอุเอโนะ พื้นที่กว้างขวาง

สะพานลอยเชื่อมอาคารสำนักงาน ณ ย่านชิโอะโดะเมะ

ส่วนสะพานลอยข้ามถนนปกติยังพอมีให้เห็นอยู่ (บ้าง) จุดที่ยังพอชื่นใจ คือแม้มันจะกีดกั้นการเข้าถึงในตัวมันเองก็ตาม แต่หลายแห่งพยายามออกแบบให้ user-friendly มากที่สุด คือขั้นบันไดไม่ชันจนเกินไป
มีราวจับ มีตัวหนืดกันลื่น มีเลนจักรยานตรงกลาง


สะพานลอยข้ามถนน แถวย่านช็อปปิงโอะโมะเตะซันโดะ


รูปโฉมของสะพานลอยที่ออกแบบให้ user-friendly ^^

อีกจุดหนึ่งที่น่าชื่นชมคือ สะพานลอยบางแห่งที่สร้างมานานมากแล้ว เมื่อวันเวลาผ่านไป พิสูจน์แล้วว่ามันไม่เวิร์ก ไม่สะดวก หรือคนใช้น้อย กล่าวคือในทางปฎิบัติ ผู้คนก็ลักไก่ “ข้ามถนนใต้สะพานลอย” กันตรงนั้นแหละ หรือไม่ก็เดินต่อไปเพื่อข้ามทางม้าลายที่อยู่ไม่ไกลมากนัก (คือสะพานลอยไม่จำเป็นสำหรับบริเวณนี้แล้ว) ประชาชนในชุมชนย่านนั้นก็สามารถเรียกร้องไปยังสำนักงานเขตได้ เมื่อเสียงส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า “ไม่เอาสะพานลอยแล้ว” ก็ทุบสะพานลอยทิ้งและทำเป็นทางม้าลายแทนได้

อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นทางม้าลาย สิ่งหนึ่งที่หลายคนต้องคิดกังวลคือ แล้วพฤติกรรมคนขับรถจะหยุดให้คนข้ามหรือเปล่า ด้วยเหตุผลหลายประการ การข้ามถนนบนทางม้าลายในญี่ปุ่นเป็นไปอย่างปลอดภัย ราบรื่น และเป็นระบบ (หลักๆ คือวินัยคนขับรถและสัญญาณไฟคนข้ามที่มีอยู่แทบทุกที่) ในเมื่อเป็นเช่นนั้น “สะพานลอย” จึงอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่สมเหตุสมผลนักในสังคมญี่ปุ่น ในเมื่อไม่ Make Sense…ก็ไม่จำเป็นต้องมี ^^


รถราหยุดให้คนข้ามได้อย่างสบาย

วินัยจราจร x สัญญาณไฟคนข้าม…สำคัญมากนะ