"ลูกตายไม่ได้น้อยใจ ช้ำใจ เหมือนครั้งนี้เลย เพราะมีเรื่องหักได้ว่าเป็นธรรมดาโลก ครั้งนี้ทุกข์สุดที่จะทุกข์แล้ว"
"ลูกตายไม่ได้น้อยใจ ช้ำใจ เหมือนครั้งนี้เลย เพราะมีเรื่องหักได้ว่าเป็นธรรมดาโลก ครั้งนี้ทุกข์สุดที่จะทุกข์แล้ว"
.
...ต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการกวดล้างจับกุมผู้ต้องหา จำนวน ๕๑ คน ฐานดำเนินการเพื่อคิดการกบฏและวางแผนประทุษร้ายชีวิตบุคคลในคณะรัฐบาล ในบรรดาผู้ถูกจับกุมครั้งนั้น มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรวมอยู่ด้วย ทำให้เจ้านายและประชาชนทั่วไปประหลาดใจมาก เพราะทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ และไม่ทรงเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด
.
เมื่อสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงทราบเรื่องแล้ว ก็มีพระราชเสาวนีย์ให้เจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน ๑ ใน ๒ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาเข้าเฝ้าฯ เพื่อหาทางช่วยเหลือกรมขุนชัยนาทฯ
.
“เธอกับฉันก็เห็นกันมาตั้งแต่ไหนๆ ครั้งนี้ทุกข์ของฉันเป็นที่สุด ขอให้เธอช่วยไปบอกจอมพล*ทีว่า อย่าจับกรมชัยนาทฯ เข้าห้องขัง มีผิดอะไรส่งมาให้ฉัน ฉันจะขังไว้เอง ให้มาอยู่ที่บ้านนี้ ข้างห้องฉันนี่ เพราะฉันเลี้ยงของฉันมาตั้งแต่ ๑๒ วัน พระพุทธเจ้าหลวงอุ้มมาพระราชทานเอง ถ้ากรมชัยนาทหนีหาย ฉันขอประกันด้วยทรัพย์สินที่ฉันมีอยู่ ถ้าหนีหาย ฉันก็จะยอมเป็นขอทาน” (สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ : สมภพ จันทรประภา* เข้าใจว่าพระราชดำรัสนี้น่าจะมาจากคำบอกเล่าที่ผู้เขียนได้ฟังมาภายหลัง จึงได้ผิดพลาด เพราะเวลานั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังมียศเป็นเพียงพลตรี หลวงพิบูลสงคราม)
.
เจ้าพระยาพิชเยนทร์ฯ กราบบังคมทูลลาไปปฏิบัติตามพระราชเสาวนีย์ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ฝ่ายรัฐบาลไม่ยินยอมให้ปล่อยตัว เพราะ “เกี่ยวกับเรื่องของบ้านเมือง” เมื่อกลับมาทูลสมเด็จฯ จึงทรงโทมนัสแล้วตรัสว่า
.
“เขาจะแกล้งฉันให้ตาย ฉันไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ลูกตายไม่ได้น้อยใจ ช้ำใจ เหมือนครั้งนี้เลย เพราะมีเรื่องหักได้ว่าเป็นธรรมดาโลก ครั้งนี้ทุกข์สุดที่จะทุกข์แล้ว...เธอจะไปทำอย่างไร ก็ขอให้ช่วยด้วย เห็นแก่ฉันเถอะ ฉันไม่พูดหรอกกับพระองค์อาทิตย์* เพราะเธอเป็นเด็กและเป็นญาติฉันด้วย” (* พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์อาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กล่าวกันว่าทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล) เจ้าพระยาพิชเยนทร์ ได้ฟังดังนั้นก็ร้องไห้ กราบถวายบังคมลาออกไปทั้งน้ำตานอง
.
หลังสมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ ทรงถูกจับเพียงไม่กี่วัน สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาก็ทรงพระประชวรหนักด้วยพระโรคพระวักกะพิการ และหมอไม่สามารถถวายการรักษาได้เพราะไม่เข้าใจสมมติฐานของโรค มีแต่เพียงแต่สมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ เท่านั้นที่ทรงอธิบายได้ จึงทรงเรียกเจ้าพระยาพิชเยนทร์ฯ มาเข้าเฝ้าฯ และทรงขอให้ไปติดต่อรัฐบาลเพื่ออนุญาตนำตัวสมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ ออกมาชี้แจงสมมติฐานแก่หมอ แต่รัฐบาลก็ไม่ยินยอม
.
สมเด็จฯ จึงทรงให้ไปเจรจาอีกครั้งโดยขอให้หมอได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ เพื่อฟังการชี้แจงสมมติฐาน รัฐบาลแจ้งว่าแล้วแต่กรมตำรวจ (ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าในเวลานั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม เกรงใจหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจอยู่มาก) เจ้าพระยาพิชเยนทร์ฯ ไปอ้อนวอนกรมตำรวจ และขอให้สมเด็จฯ ทรงบริจาคเงินสองหมื่นบาทช่วยราชการทหารจนเป็นที่ตกลง แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการอะไรสมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวลัยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑
.
เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวเป็นอันให้ สมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ ทรงถูกขังต่อไป และทรงถูกศาลพิเศษพิพากษาคดีตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต ถอดฐานันดรศักดิ์ เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด และให้ออกนามใหม่ว่า "นักโทษชายรังสิต"
.
ในส่วนที่เกี่ยวกับงานพระเมรุสมเด็จพระราชธิดา ซึ่งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้านั้น รัฐบาลได้แจ้งให้ทราบว่า "ไม่มีเงินที่จะใช้ในการพระเมรุตามพระราชอิสสริยยศ ถ้าต้องพระประสงค์ จะถวายพระเพลิงก็ต้องพระราชทานเงิน (เอง)"
.
หลังจากที่ "นักโทษชายรังสิต" ถูกกักขัง ณ เรือนจำกลางบางขวาง ในข้อหา "กบฏ" เป็นเวลาเกือบ ๓ ปี จึงได้รับการปล่อยตัวและมีการประกาศสถาปนาพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์คืนตามเดิม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ ในสมัยนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
.
ที่มา เพจ S. Phormma's Colorizations
แหล่งที่มา: http://www.facebook.com