วันนี้ในอดีต 30 พฤษภาคมนักศึกษาผู้ประท้วงตั้งรูปปั้นเทพีประชาธิปไตย สูง 10 เมตร ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง
วันนี้ในอดีต 30 พฤษภาคม
เมื่อปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) – นักศึกษาผู้ประท้วงตั้งรูปปั้นเทพีประชาธิปไตย สูง 10 เมตร ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง
ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน
โศกนาฏกรรมดังกล่าวอุบัติขึ้นในปี 2532 (1989) อันเป็นปีหายนะของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ขณะที่ผู้นำคอมมิวนิสต์จีนต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ลุกขึ้นท้าทายอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลแห่งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ลัทธิคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีตะวันออกโงนเงนและล่มสลายไปในที่สุด กำแพงเบอร์ลินถูกทลายราบในเดือนพฤศจิกายน 1989 ขณะที่สถานการณ์ในแดนคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตก็ร่อแร่เช่นกันและล่มสลายในเดือนธันวาคม 1991
การเคลื่อนไหวที่เทียนอันเหมินเริ่มขึ้นกลางเดือนเมษายน จากการเดินขบวนแสดงความอาลัยแด่การจากไปของผู้นำนักปฏิรูป หู เย่าปัง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ บานปลายเป็นการเดินขบวนเรียกร้องปฏิรูปการเมืองและปราบปรามคอรัปชั่นนำโดยกลุ่มนักศึกษา
กลุ่มนักศึกษายึดครองจัตุรัสเทียนอันเหมิน “ทุกตารางนิ้วของบริเวณจัตุรัสเต็มไปด้วยป้ายเรียกร้องการปฏิรูป มันเป็นการเดินขบวนครั้งแรกในประวัติศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีน” หวัง ตัน หนึ่งในผู้นำกลุ่มนักศึกษา รำลึกเหตุการณ์
เสียงกู่ร้องประชาธิปไตย และเสรีภาพดังก้องจัตุรัส ที่เป็นสัญลักษณ์อำนาจการเมืองของประเทศจีน ผู้คนหลายพันอดอาหารประท้วง ผู้นำนักศึกษา อู๋เอ่อร์ ไคซี ได้ท้ายทายนายกรัฐมนตรีหลี่ เผิง ระหว่างการประชุมที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์
ขณะนั้นกลุ่มสื่อทั่วโลกกำลังหลั่งไหลมายังกรุงปักกิ่งเพื่อเกาะติดรายงานข่าวการเยือนระหว่างประเทศครั้งประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีมิกฮาอิล กอร์บาชอฟ จากแดนคอมมิวนิสต์ของพญาหมีขาวมาเยือนจีน และกลุ่มสื่อเหล่านี้ก็ได้ข่าวใหญ่ที่สำคัญมากยิ่งกว่า
ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน กลุ่มประท้วงอยู่ระหว่างลิ่มอำนาจกลุ่มผู้นำหัวรั้นนำโดนนายกฯหลี่ เผิง และกลุ่มที่ยึดถือการปฏิบัติสายกลางนำโดย จ้าว จื่อหยาง เลขาธิการพรรคฯ
ในที่สุด กลุ่มผู้นำหัวรั้นก็ชนะด้วยการสนับสนุนของผู้นำสูงสุดเติ้ง เสี่ยวผิง จ้าว จื่อหยาง ถูกปลดออกจากตำแหน่ง นับจากนั้นจ้าวก็ถูกกักบริเวณในบ้านพักเป็นเวลาถึง 16 ปี กระทั่งวันสิ้นลมหายใจในปี 2548
กลุ่มนักศึกษาประกาศ “การกบฏต่อปฏิปักษ์ปฏิวัติ” ขณะที่กลุ่มทหารเคลื่อนสู่เมืองหลวง บดขยี้ความฝันของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย โดยเปิดศึกรุนแรงในวันที่ 3 และ 4 มิถุนายน จำนวนผู้เสียชีวิตยังคงเป็นปริศนามาถึงวันนี้ ตัวเลขรัฐบาลระบุยอดผู้เสียชีวิต 241 คนโดยเป็นนักศึกษา 36 คน ขณะที่กลุ่มที่มีความคิดเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลระบุตัวเลขถึงหลักพัน
จากนั้นคลื่นประณามจากทั่วโลกก็โถมซัดเข้าใส่ผู้นำจีน และจีนก็ถูกมองและปฏิบัติประหนึ่งพวกที่น่าเกียจเป็นเวลาหลายปี บรรดารัฐบาลในตะวันตกต่างเสนอให้ที่ลี้ภัยแก่กลุ่มนักศึกษา
ว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไป ท่าทีต่างๆก็เปลี่ยนไป ประชาคมโลกหันมาต้อนรับจีน ผู้นำคอมมิวนิสต์ในกรุงปักกิ่งยังคงกุมอำนาจ และผลักดันประเทศสู่ชาติอำนาจเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของโลก
แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือจุดยืนของผู้นำจีนที่มองว่าการประท้วงคุกคามการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ และจะต้องปราบให้ราบเพื่อรักษาการปฏิรูปเศรษฐกิจ
“ความจริงที่ปรากฏพิสูจน์แล้วว่าเส้นทางสังคมนิยมด้วยบุคลิกจีนที่เราได้ยึดถือนั้นเป็นรากฐานผลประโยชน์ประชาชน” หม่า เจาซี่ว์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในเดือนพฤษภาคม
ขณะที่อดีตที่ปรึกษาของจ้าว จื่อหยาง เป่า ถง ผู้ถูกจำคุก 7 ปีหลังเหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน ชี้ว่าประชาคมโลกล้มเหลวในการกดดันจีนให้เปิดกว้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่เทียนอันเหมิน เนื่องจากอิทธิพลบนเวทีโลกของจีนที่ขยายตัวมากขึ้น
https://www.facebook.com/Bookcafeoriginal/photos/pcb.843173549178821/843173075845535/?type=3&theater