โครงการสร้างตึกระฟ้าแห่งแรกที่ห้อยจากดาวเคราะห์น้อย.
โครงการสร้างตึกระฟ้าแห่งแรกที่ห้อยจากดาวเคราะห์น้อย....
ลืมโครงการสร้างอาคารสูงที่สุดในโลกทั้งหลายไปได้เลย เพราะสถาปนิกนิวยอร์กมีไอเดียแขวนอาคารลงมาจากนอกโลก
เทคโนโลยีการออกแบบก้าวล้ำไปไกลขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันเรามีตึกระฟ้าที่ถูกพัฒนาเป็นสวนสร้างออกซิเจนให้แก่เมืองที่ปกคลุมด้วยมลพิษอย่างจีน มีแผนสร้างเมืองลอยน้ำกลางมหาสมุทรแปซิฟิกที่ใช้รับมือกับน้ำท่วมในอนาคต แต่ไอเดียทั้งหมดนี้จะกลายเป็นโรงเรียนอนุบาลไปเลย เมื่อเทียบกับไอเดียจากสถาปนิกชาวนิวยอร์ก ด้วยการสร้างตึกระฟ้าแห่งใหม่ อาคารแห่งอนาคตที่ขึ้นชื่อว่าสูงที่สุด
ซึ่งไม่ใช่เพราะความยาวของอาคาร แต่เป็นเพราะตำแหน่งที่ตั้งต่างหากเนื่องจากอาคารของพวกเขาจะถูกแขวนอยู่กับดาวเคราะห์น้อยบนอวกาศ! บริษัท Clounds Architecture ผู้เคยเสนอไอเดียสร้างกระท่อมเอสกิโมบนดาวอังคาร มาพร้อมกับไอเดียใหม่ที่เหมือนกับหลุดออกมาจากนิยายวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงด้วยการสร้างอาคารแห่งแรกในโลกที่ลอยตัวอยู่บนอากาศ โดยใช้ชื่อว่า Analemma Tower
ข้อมูลจากเว็บไซต์ระบุว่า ตัวอาคารดังกล่าวจะถูกยึดไว้กับดาวเคราะห์น้อยที่โคจรอยู่เหนือโลกของเราบนความสูง 50,000 กิโลเมตร ด้วยสายเคเบิลที่มีความแข็งแรงมากๆ ดาวเคราะห์น้อยจะยังคงโคจรไปรอบๆโลกเช่นเดิม โดยพาเอาอาคาร Analemma Tower เคลื่อนตัวผ่านซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้ไปด้วย
ซึ่งเมื่อครบรอบ 24 ชั่วโมง ตัวอาคารก็จะเคลื่อนตัวกลับมายังจุดเริ่มต้นพอดี สำหรับรายละเอียดของการออกแบบ สถาปนิกให้ข้อมูลว่าตัวอาคารจะมีลักษณะเป็นเมืองลอยตัวที่แบ่งออกเป็นสัดส่วนไม่ว่าจะเป็นศูนย์อาหาร, แหล่งช็อปปิ้ง, พื้นที่บันเทิง ไปจนถึงออฟฟิศ สวนลอยฟ้า และที่พักอาศัย ตัวอาคารจะใช้ระบบพลังงานหมุนเวียน และพลังานจากแสงอาทิตย์เป็นหลัก ซึ่งด้วยความที่อาคารดังกล่าวนั้นลอยตัวอยู่ใกล้กับเมฆมากทำให้สามารถกรองน้ำจากเมฆฝนมาใช้ภายในอาคารได้
แน่นอนว่าไอเดียสุดอัจฉริยะนี้ (ที่ค่อนไปทางบ้ามากๆ) มาพร้อมกับคำถามมากมายตามมา ซึ่งคุณผู้อ่านเองเมื่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ก็คงมีเช่นกันไม่ว่าจะเป็น หากผู้คนต้องการเดินทางเข้าออกอาคาร พวกเขาจะทำอย่างไร? หรือหากอาคารเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพอากาศจะรับประกันความปลอดภัยอย่างไร? รวมไปถึงคำถามสำคัญอย่างจะแน่ใจได้อย่างไรว่าดาวเคราะห์น้อยจะยังคงโคจรรอบโลกตลอดเวลา ไม่พาอาคารออกนอกวงโคจร ตลอดจนตกลงมายังโลก? (ยังไม่นับรวมถึงความเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศ ปริมาณออกซิเจน และอุณหภูมิ) ซึ่งเหล่านี้ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าไอเดียโครงการสุดล้ำสมัยนี้จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่