เพราะผมไม่ใช่เธอ! คุยกับทรานส์แมน ‘ผู้ชาย’ ที่มีคำนำหน้าว่า ‘นางสาว’
มุก-คาณัสนันท์ ดอกพุฒ เรียกแทนตัวเองว่า “ผม” และลงท้ายประโยคว่า “ครับ” แต่มีคำนำหน้าชื่อในบัตรประชาชนว่า ‘นางสาว’เสียงแตกห้าว หนวดบนริมฝีปาก ทรงผมสกินเฮด เสื้อเชิ้ต กางเกงสแล็กถ้าจะบอกว่ามุกเป็น ‘ทอม’ เธอคงขอให้คุณเรียกเธอใหม่ว่า ‘ทรานส์แมน’
ทรานส์แมนไม่ใช่ทอม
มองภายนอก มุกเหมือนผู้ชายทุกประการ ตั้งแต่หัวจรดเท้า สรีระ หนวด น้ำเสียง ที่เป็นผลมาจากการฉีด ‘ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน’ หรือฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ ‘ทรานส์แมน’ ต่างจาก ‘ทอม’
“ผมมองว่า ทรานส์แมนก็คือทอมที่มีความต้องการแปลงเพศหรือมีสภาพความเป็นชาย แต่ทอมแม้จะแต่งตัวเป็นผู้ชาย แต่ก็ไม่ได้อยากเป็นผู้ชาย”
มุกตัดสินใจผ่าตัดหน้าอกให้แบนราบ หลังฉีดฮอร์โมนเพศชายมาได้ครึ่งปี และทุกวันนี้มุกใช้ชีวิตเหมือนผู้ชายทั่วไป
“ไปที่ไหนก็เข้าห้องน้ำชายปกติ”
มีเพียงสองสิ่งที่ต่างออกไป คือหนึ่ง นานๆ จะโกนหนวดสักครั้ง เพราะหากโกนบ่อย ผิวที่บอบบางกว่าผู้ชายจะระคายเคืองและสอง ยังไม่ได้แปลงอวัยวะเพศ
“พอผ่าตัดหน้าอก ก็บอกตัวเองว่าหยุดแค่นี้ก่อน เพราะผมรู้สึกว่าค่าผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเพศแพง และยังใช้งานไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์”
“แม่บอกว่าตอนเรียนอนุบาล ถ้าให้ผมใส่ชุดสวยๆ ไปโรงเรียน ผมจะไม่ยอม วิ่งหนี ร้องไห้ แต่ผมจำไม่ได้นะว่าผมเป็นแบบนั้น"
‘แมน’ มาตั้งแต่เกิด
สองเดือน คือระยะเวลาหลังฉีดฮอร์โมนฯ ที่ร่างกายจะเข้าสู่ความเป็นชาย เสียงห้าว หนวดขึ้น ขนครึ้มแต่มุกบอกว่าเธอมีความเป็น ‘ชาย’ ตั้งแต่ก่อนจำความได้“แม่บอกว่าตอนเรียนอนุบาล ถ้าให้ผมใส่ชุดสวยๆ ไปโรงเรียน ผมจะไม่ยอม วิ่งหนี ร้องไห้ แต่ผมจำไม่ได้นะว่าผมเป็นแบบนั้น
“ตอนนั้นผมไม่ได้รู้สึกว่าผมอยากเป็นผู้ชาย แต่ผมรู้ว่าผมเป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่อยากใส่กางเกง ชอบเล่นกับเพื่อนผู้ชาย ถ้ามีแบ่งกลุ่มชายหญิง เราก็ชอบไปอยู่กลุ่มผู้ชาย”อีกหลายปีให้หลัง หลังได้ดูสารคดีในเคเบิลทีวีเกี่ยวกับการแปลงเพศหญิงเป็นชาย มุกในวัย 18 ก็ตัดสินใจว่าจะแปลงเพศเป็นผู้ชาย
“พอดูจบ ก็รีบพิมพ์กูเกิลหา รุ่นผมข้อมูลยังเป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีภาษาไทย ก็เสิร์ชหา จนอายุ 27 ก็ตัดสินใจทำ โทรบอกแม่ แม่ก็อึ้งๆ แล้วถามว่า “เป็นทอมต่อไปไม่ได้เหรอ” “ผมบอกได้ แต่อาจจะไม่มีความสุข”
ความเป็นชายที่สังคมมอบให้
หลังการฉีดฮอร์โมนฯ ไม่ใช่แค่ร่างกายที่เปลี่ยนจากสาวทอมเป็นผู้ชาย แต่พฤติกรรมคนรอบตัวและสังคมที่มีต่อมุกก็เปลี่ยนไปด้วย“เหมือนเราถูกสังคมโยนมาอยู่ใน ‘กล่องผู้ชาย’ อะไรที่ผู้ชายได้ เราก็จะได้ อย่างเมื่อก่อนตอนกลับบ้าน ผมต้องไปอยู่ในครัว ช่วยล้างจาน จัดกับข้าว แต่เดี๋ยวนี้ พ่อเรียกผมไปนั่งกินเหล้ากับพ่อ
“ผมไม่ได้ดีใจอะไรนะ แค่บอกว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น”แต่คำนำหน้าชื่อ ‘น.ส.’ และข้อมูลที่ระบุในเอกสารทางราชการ ยังบอกว่ามุกเป็น ‘เธอ’ ไม่ใช่ ‘ผม’
“ตอนแรกผมเป็น call center อยู่ เป็นผู้หญิงสวยๆ คนหนึ่งเลย แต่พอฉีดฮอร์โมนฯ ได้ 6 เดือน ผมก็ขอหัวหน้าว่า ให้พูด ‘ครับ’ ได้หรือยัง เพราะจะฝืนเสียงต่อไปไม่ไหวแล้ว“จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมรับสายหนึ่ง เขาด่าว่า เฮ้ย! เดี๋ยวนี้ call center ที่นี่ เอากระเทยมารับสายแล้วเหรอ”ตอนนั้นเอง มุกเริ่มรู้แล้วว่าคนทั่วไปไม่ได้เฟรนด์ลีกับ LGBT อย่างที่เคยคิด
“มีอยู่เคสหนึ่ง โทรมาบอกว่าโปรไฟล์คุณใช่เลย นี่แหละที่เรากำลังตามหา แล้วถามเราว่ากรอกคำนำหน้าชื่อในเรซูเมผิดหรือเปล่าคะ ผมก็ตอบว่า ‘มิส’ ไม่ผิดครับ เขาหายไป 15 นาที โทรกลับมาบอกว่า ทางบริษัทเรามีนโยบายรับแต่ผู้หญิงแท้”
เพราะเป็น น.ส. จึงไม่ได้งาน
“โอเค เขาอาจจะไม่รังเกียจผม แต่เขาไม่เข้าใจวิธีการปฏิบัติและให้เกียรติกันในที่ทำงาน”
หลังจากฝืนดัดเสียงเป็นผู้หญิงต่อไปไม่ไหว มุกจึงตัดสินใจย้ายงานไปทำที่โรงเรียนนานาชาติ เพราะเข้าใจว่าความเป็นอินเตอร์น่าจะยอมรับกับความหลากหลายทางเพศ
แต่มุกคิดผิด เธอถูกบังคับให้ใช้คำนำหน้าชื่อว่า ‘Miss’ และต้องเข้าห้องน้ำผู้หญิงเท่านั้น
“บางทีเราเดินออกมา เด็กผู้หญิงในห้องน้ำเห็น ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ปลอดภัย และไอ้นี่โรคจิตหรือเปล่า ผมทำได้อยู่หนึ่งปี ไม่ไหว…”
หลังจากนั้น ทุกครั้งที่มุกไปสมัครหรือสัมภาษณ์งาน จะถามกับผู้สัมภาษณ์ว่า ผมเป็นผู้ชายข้ามเพศ คุณโอเคกับตรงนี้ไหม
“ไม่มีใครเอาเลย” (หัวเราะ)
“มีอยู่เคสหนึ่ง รู้สึกแย่มาก โทรมาบอกว่าโปรไฟล์คุณใช่เลย นี่แหละที่เรากำลังตามหา แล้วถามเราว่ากรอกคำนำหน้าชื่อในเรซูเมผิดหรือเปล่าคะ เพราะเขาได้ยินเสียงเราไง ผมก็ตอบว่า ‘มิส’ ไม่ผิดครับ เขาเลยบอกเดี๋ยวโทรกลับนะคะ หายไป 15 นาที โทรกลับมาบอกว่าทางบริษัทเรามีนโยบายรับแต่ผู้หญิงแท้”
นี่คืออดีตของมุก ปัจจุบันมุกทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งมาได้ 3 ปี“เป็น 3 ปีที่ทำงานมีความสุขมาก” มุกยิ้ม เพราะที่นี่เธอไม่ใช่ ‘ทรานส์แมน’ แต่คือ ‘ผู้ชาย’ คนหนึ่ง
เพศที่บอกด้วย ‘ใจ’ ไม่ใช่ ‘จู๋’
“เมืองไทยเหมือนจะรับ LGBT ได้ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เขาอาจจะไม่ทำร้ายร่างกายเรา หรือแสดงออกถึงความเกลียดชังอย่างออกนอกหน้า แต่เขาจะรู้สึกว่าเราควรจะต้องถูกจำกัดสิทธิ์บางอย่าง”
นอกจากเป็นพนักงานบริษัท อีกบทบาทหนึ่งของมุกคือ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม FTM Bangkok ชุมชนแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของ ‘ผู้ชายข้ามเพศ’
“เวลาที่เราคิดว่าเราเป็นผู้ชายข้ามเพศ สิ่งแรกที่มองหาคือเพื่อนว่ะ”
การให้ความรู้เรื่องฉีดฮอร์โมนก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่การมีใครสักคนเคียงข้าง มุกมองว่าสำคัญกว่า โดยเฉพาะในสังคมที่ให้ค่าแค่ ‘ชาย-หญิง’
“สำหรับทรานส์แมน ผมมองว่าสิ่งแรกที่สังคมควรจะเปลี่ยนคือ เลิกกำหนดเพศด้วยอวัยวะเพศ เพราะไม่ว่าคุณจะมีเพศกำเนิดอย่างไร แต่อัตลักษณ์ทางเพศคือสิ่งที่ใจเราเลือก“ถ้าคุณใส่กระโปรง ทาลิป แล้วบอกว่าคุณเป็นผู้ชาย ผมก็เชื่อว่าคุณเป็นผู้ชาย
“ผมอยากให้ทุกคนเคารพคนอื่นๆ ในสิ่งที่เขาเป็นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ที่เรามีปัญหา เพราะเราไม่เคารพกัน นี่คือหัวใจของปัญหาจากมุมมองของผม” ‘ผม’ ในท้ายประโยคของมุก เต็มไปด้วยความหนักแน่นในน้ำเสียงและแววตา