หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ยักษ์ในนิทานพื้นบ้าน-วรรณคดี คือสัญลักษณ์แทนสิ่งใด?

โพสท์โดย นาคเฝ้าคัมภีร์
ยักษ์ อมนุษย์ประเภทหนึ่ง ตามข้อมูลในศาสนาพุทธ ระบุว่า ยักษ์ เป็นชาวสวรรค์กลุ่มจาตุมหาราชิกาประเภทหนึ่งจากทั้งหมด ๔ ประเภท(ไม่รวมชาวครุฑ) ซึ่งชาวพุทธโบราณของสยามได้นำภาพลักษณ์ของยักษ์ตามบันทึกข้อมูลในศาสนาพุทธมาประยุกต์ใช้ในนิทานพื้นบ้านตลอดจนวรรณกรรมต่างๆ ซึ่งภาพลักษณ์ของยักษ์ในพื้นบ้าน-วรรณคดีนั้นมักถูกสื่อออกมาในแง่ลบที่เห็นได้อย่างชัดเจน และยังถูกขยายความให้กว้างขึ้นโดยการนำมาแสดงออกในรูปของสงครามระหว่างมนุษย์กับยักษ์อีกด้วยและในบางเรื่องยักษ์เองกลับได้เป็นผู้เลี้ยงดูตัวเอก แต่ท้ายสุดแล้วไม่ว่ายักษ์ที่เป็นศัตรูรึเป็นมิตรกับมนุษย์ก็มักจะมีจุดจบแบบเดียวกัน คือ ตาย
 
ข้อมูลเรื่องสิทธิ์ ฤทธิ์ อำนาจ ของยักษ์(รวมถึงอมุษย์มีเขี้ยวสากลอื่นๆทั้งเอเชียและยุโรป)และอมนุษย์ชาวจาตุมหาราชิกาทั่วไป
 
ในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เองที่เริ่มมีผู้ไร้ความรู้ทั้งหลายออกมาตราหน้าว่าตัวเอกในนิทานพื้นบ้าน-วรรณคดีหลายเรื่องว่ามีพฤติกรรมเนรคุณ อกตัญญูต่อยักษ์ เช่น พระสังข์กับนางพันธุรัต สินสมุทรกับนางผีเสื้อสมุทร สิงหไกรภพ-พราหมณ์เทพจินดากับพินทุมาร แต่ก็ยังดีที่ไม่มีการตราหน้าถึงขั้นทรพี(เพราะตัวเอกเหล่านี้ไม่ได้สังหารยักษ์ผู้เป็นบุพพการีของตนเอง)เพราะไม่มีความเข้าใจในรูปแบบและความหมายของยักษ์ในนิทานพื้นบ้าน-วรรณคดีที่ชาวพุทธสยามโบราณได้ออกแบบไว้อย่างแยบยลนั่นเอง
 
การที่ชาวพุทธสยามโบราณนำเอายักษ์มาเป็นคู่สงครามในนิทานพื้นบ้าน-วรรณคดีแทนการ รบกับมนุษย์ด้วยกันนั้น เพราะการรบกับมนุษย์ด้วยกันมันดูธรรมดาเกินไปจนอาจทำให้เนื้อเรื่องดูน่าเบื่อและไม่ดึงดูดใจผู้อ่าน นอกจากจุดประสงค์ที่ไม่ต้องการให้เนื้อเรื่องเกิดความซ้ำซากจำเจแล้ว ความหมายของยักษ์ตามบันทึกข้อมูลในศาสนาพุทธยังมีนัยยะสำคัญซึ่งสื่อถึงลำดับชั้นขั้นตอนไปสู่การบรรลุธรรมชั้นสูงซ่อนซ้อนอยู่อีกด้วย
 
ยักษ์ นอกจากเป็นชื่อของกลุ่มอมนุษย์ชาวจาตุมหาราชิกาประเภทหนึ่งแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แทนของกามคุณ๕(รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส)อีกด้วย ซึ่งสัญลักษณ์ของกามคุณนี้มักแสดงออกมาในรูปของสิ่งร่างจำแลงแปลงของตัวยักษ์เองและสิ่งเนรมิตรทั้งหลายซึ่งมีลักษณะสวยงามยวนใจเพื่อใช้ลวงจับมนุษย์ซึ่งยังหลงใหลในกิเลสกามคุณนั้น ซึ่งกามคุณนี้มีหน้าที่คอยขัดขวางไม่ให้บุคคลไปถึงจุดหมายและเป้าหมายของภารกิจแห่งความเจริญทั้งกายและใจ ทำให้ไขว้เขวออกจากเส้นทางแห่งความเจริญ(คือการถูกยักษ์ครอบงำ ตกเป็นทาสยักษ์ไม่อาจหนีไปไหน เช่น กรณีของพระอภัยมณีที่ถูกนางผีเสื้อสมุทรจับตัวหวงแหนไว้ถึง๘ปีเต็มจึงสามารถหนีนางผีเสื้อฯออกมาได้สำเร็จ) และยังสามารถทำให้บุคคลที่หลงใหลล่วงถึงความตายได้หากไม่ยอมถอนตัว(ซึ่งก็หมายถึงถูกยักษ์นั้นจับเคี้ยวกินไปโดยสมบูรณ์แล้ว)
 
การที่ชาวพุทธสยามโบราณนำยักษ์มาเป็นคู่สงครามในนิทานพื้นบ้าน-วรรณคดีจึงมีความหมายนัยยะสำคัญในเชิงลึก เป็นการสื่อว่า การทำสงครามกับยักษ์นั้น คือ การทำสงครามต่อสู้กับการครอบงำของกามคุณทั้งหลายที่มีต่อตนเองและสังคม(ซึ่งรูปแบบที่สื่อออกมาในรูปการทำสครามใหญ่ระหว่างมนุษย์กับยักษ์น่าจะเป็นการจำลองเหตุการณ์การเผชิญหน้าระหว่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับกองทัพพระยาปรนิมมิตวสวัตตีมารตามบันทึกนั่นเอง เพราะพระยามารนี้คือปราการด่านสุดท้ายที่คอยกีดขวางบุคคลไม่ให้ก้าวพ้นเขตแดนของกามคุณ)
 
ในนิทานพื้นบ้าน-วรรณคดีได้จำแนกลักษณะของยักษ์(กามคุณ)ไว้ ๒ ประเภทด้วยกัน ได้แก่
 
๑.ยักษ์ในลักษณะมิตร ยักษ์ประเภทนี้มักจะมาในรูปของคู่ครองและบุพการีผู้มีคุณ ซึ่งมีผลเฉพาะกับบุคคลเท่านั้น แต่ถึงจะมีผลในขอบเขตแคบๆแค่ตัวบุคคลแต่ก็เป็นยักษ์ที่บุคคลเอาชนะได้โดยยากด้วย แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง จึงแยกย่อยออกไปอีก ดังนี้
๑.๑ ยักษ์ในลักษณะของคู่ครอง เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับพระอภัยมณีที่ถูกนางผีเสื้อสมุทรลักพาตัวไปอยู้ด้วยกันบนเกาะร้างกลางทะเล และนางผีเสื้อได้จำแลงกายให้งดงามดุจนางกินรีแต่พระอภัยมณีก็สังเกตรู้ได้ว่านางเป็นยักษ์ แต่ด้วยไม่อาจหนีไปไหนได้จึงจำใจอยู่ด้วยกันถึง๘ปีเต็ม รึว่าง่ายๆก็คือ กามคุณนี้พยายามญาติดีกับพระอภัยมณีแต่พระอภัยมณีรู้ทันจึงไม่ยอมญาติดีด้วย แต่ก็ไม่อาจหนีไปไหนได้จึงต้องทนอยู่กับกามคุณอย่างมีสติถึง๘ปีเต็มจนพบหนทางสู่อิสรภาพ และยังมีนิทานอีกหลายเรื่องที่มีสตรีเป็นมเหสีของพระยายักษ์ ซึ่งส่วนมากเป็นในลักษณะของการเต็มใจอยู่กินกับพระยายักษ์นั้นมากกว่า จะมีที่หนีจากพระยายักษ์บ้างในบางเรื่อง เช่น สังข์ศิลป์ชัย เป็นต้น
๑.๒ ยักษ์ในลักษณะของบุพพการี เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับสินสมุทร พระสังข์ทอง และสิงหไกรภพกับพราหมณ์เทพจินดา ยักษ์เป็นได้ทั้งบุพการีทั้งแท้และบุญธรรม ยักษ์ที่มาในรูปของบุพการีนี้มีลักษณะเป็นมิตรอย่างมาก(แต่ในเคสของสินสมุทรจะมีลักษณะชวนอึดอัดซึ่งจะอธิบายอีกทีในภายหลัง)แต่เมื่อบุคคลนั้นมีเป้าหมายในชีวิตชัดเจนขึ้นแล้ว ความเป็นบุพพการีของยักษ์จะเริ่มแปรเปลี่ยนไปเป็นลักษณะของการเหนี่ยวรั้งยึดเกาะไม่อยากพราก ซึ่งเป็นลักษณะของการอยู่อย่างสุขสบายกับสิ่งที่กามคุณมอบได้ให้แต่เมื่อเริ่มเบื่อหน่ายในกามคุณแล้วจึงคิดแสวงหาทางในการหลุดพ้น กามคุณนั้นจึงกลายเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งขัดขวางบุคคลออกจากเส้นทางแห่งความเจริญ ในนิทานหมายถึง การเหนี่ยวรั้งของยักษ์บุพพการีที่ไม่ต้องการให้บุคคลเดินทางไปทำภารกิจที่ได้ตั้งไว้ในใจก่อนแล้วให้สำเร็จลุล่วง เช่น กรณีของพระสังข์ทองและสิงหไกรภพกับพราหมณ์เทพจินดา ซึ่งถูกยักษ์บุพการีบุญธรรมพยายามกีดขวางไม่ยอมให้ออกเดินทางตามหาผู้ให้กำเนิด และสินสมุทรที่มีผู้ให้กำเนิดเป็นยักษ์ซึ่งก็วางตัวลำบากไม่อาจตัดใจจากมารดาได้ถึงแม้จะกลัวนางผีเสื้อฯมากกว่ารักก็ตามที
การต่อสู้กับกามคุณในลักษณะนี้จึงยากเอาการ เพราะมาในลักษณะของการเหนี่ยวรั้งชักจูงให้ยินยอมคล้อยตามแต่โดยดี และหากไม่ยอมทิ้งกามคุณที่เคยเลี้ยงดูอยู่ด้วยกันมาเพื่อหาหนทางแห่งความสุขที่แท้จริงแล้วก็ไม่อาจรู้ได้ว่าหากอยู่ด้วยกันต่อไปจะเกิดหายนะภัยร้ายแรงอะไรขึ้นได้บ้าง ฉะนั้นเมื่อมีความมุ่งมั่นในการออกค้นหาเส้นทางสู่ความสุขที่แท้จริงจึงต้องตัดขาดจากกามคุณให้เด็ดขาดเพื่อไม่ให้เป็นภาระในภายหลังต่อไป ชาวสยามจึงต้องให้ยักษ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนกามคุณผู้เป็นมิตรสิ้นชีพเองด้วยการปฏิเสธของบุคคลผู้ตัดสินใจออกเดินทางไปตามภารกิจเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นภาระฉุดรั้งอีกต่อไป
บางครั้งยักษ์ก็จะปรากฏตัวออกมาจำแลงแปลงร่างเนรมิตรสิ่งต่างๆเพื่อลวงผู้เดินทางออกจากเส้นทางเดิมไม่ให้ไปต่อและบางครั้งก็ฆ่านักเดินทางนั้นกินด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบที่ขยายความมาจากเรื่อง เตลปัตตชาดก ซึ่งเหล่านางยักษ์ในชาดกนี้ได้ใช้กามคุณทั้ง๕ ลวงกินผู้ติดตามของพระโพธิสัตว์จนหมดสิ้น
สินสมุทรมีลักษณะกลัวแม่แต่แรกอยู่แล้ว ด้วยว่าเป็นเพียงผลผลิตจากกามคุณเท่านั้น จึงมีความต้องการที่จะแสวงหาหนทางแห่งความสุขที่แท้จริง(ก็คล้ายๆพระอภัยมณีนั่นแหละที่รู้ธาตุแท้ของกามคุณมาตั้งแต่แรก) แต่ก็ไม่อาจตัดใจได้เพราะนางผีเสื้อคือผู้ให้กำเนิด จนกระทั่งตอนที่หนีซึ่งสินสมุทรได้เห็นร่างแท้จริงของนาง(ธาตุแท้ของกามคุณ)และเกือบถูกนางฆ่าตายคามือ(ประสบภัยจากกามคุณ) สินสมุทรจึงได้กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดขาดซะที ซึ่งสิ่งที่ผู้มีคู่ครองและบุพพการีเป็นยักษ์ต้องเผชิญแน่นอนคือสิ่งนี้ วิบากกรรมของผู้มีบุพการีและคู่ครองเป็นยักษ์
 
๒.ยักษ์ในลักษณะศัตรู ยักษ์ประเภทนี้ไม่ได้มาอย่างเป็นมิตรแน่นอนตามชื่อ มีผลทั้งเฉพาะเจาะจงต่อตัวบุคลแบบยักษ์ที่เป็นมิตรและมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมด้วย ยักษ์ที่มีผลเฉพาะบุคคล มักจะมาเดี่ยวรึเป็นกลุ่มเล็กๆเข้าต่อสู้ขัดขวางตัวเอกในระหว่างเดินทาง เป็นสิ่งล่อใจของกามคุณที่ปรากฏออกมาเป็นระยะๆระหว่างการเดินทางผจญภัย โดยมากมักจะปรากฏตัวออกมาเมื่อมนุษย์เริ่มหลงระเริงสนุกสนานเพลิดเพลินกับบางสิ่งบางอย่างที่เป็นของพวกยักษ์โดยไม่ทันระวังตัว พวกยักษ์จึงปรากฏออกมาเพื่อขัดขวางรึเอาชีวิตบุคคลไม่ให้จบภารกิจได้ เช่น ตอนที่โคบุตรช่วยนางมณีสาครกับน้องชายจากยักษ์เฝ้าสระบัวทั้ง๔ตน เพราะนางมณีสาครกับน้องชายที่หนีมาลงกินน้ำเล่นน้ำหักฝักบัวกินในสระที่ยักษ์ทั้ง๔นั้นเฝ้ารักษาอยู่ ซึ่งยักษ์ในลักษณะนี้มักกำจัดได้ไม่ยากนัก เพราะเป็นกามคุณทั่วๆไปซึ่งไม่มีแรงดึงดูดมากนักจึงสามารถเห็นเป็นศัตรูได้ตั้งแต่แรกพบ
ส่วนยักษ์ที่มาเป็นกองทัพนั้น ตามนิทานมักมาในรูปของเมืองยักษ์ที่ตัวเอกเดินทางหลงเข้าไปถึงและได้เกิดกรณีพิพาทกับพระยายักษ์เจ้าเมืองจนลุกลามกลายเป็นสงครามใหญ่โตระหว่างยักษ์ทั้งกองทัพกับมนุษย์เพียงตัวคนเดียว ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลต้องต่อสู้กับกองทัพของกามคุณขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นลำดับขั้นตอนที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากการที่เคยต่อสู่กับยักษ์เล็กยักษ์น้อยระหว่างการเดินทางได้แล้ว(เอาชนะกามคุณระดับพื้นๆได้แล้ว)จึงมีประสบการณ์มากเพียงพอที่จะทำการรบพุ่งกับยักษ์ทั้งกองทัพ(กามคุณระดับสูง) ซึ่งเมื่อเอาชนะกองทัพยักษ์ได้แล้วก็หมายถึงการเอาชนะการครอบงำของกามคุณได้อย่างสมบูรณ์
อนึ่ง การที่ยักษ์อยู่รวมกันเป็นสังคมเมืองขนาดใหญ่และมีพระยายักษ์เป็นผู้ปกครอง ยังมีนัยยะสำคัญสื่อถึงการปกครองในสังคมนั้นว่า เป็นสังคมที่ปกครองด้วยกามคุณและในสังคมนั้นก็เกลื่อนกล่นไปด้วยกามคุณด้วย ซึ่งสังคมยักษ์นี้เป็นภัยต่อบุคคลทั่วไปที่ได้หลงผ่านเข้าไปอาจต้องตกเป็นเหยื่อของพวกยักษ์ในเมืองนั้นๆด้วย ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการใช้เทคโนโลยีควบคู่คุณธรรมเพื่อปฏิวัติสังคมนั้นให้เจริญขึ้นด้วย ซึ่งในนิทานออกมาในรูปแบบของการเอาชีวิตพระยายักษ์เจ้าเมืองนั้นๆได้ ซึ่งรูปแบบของการใช้เทคโนโลยีควบคู่คุณธรรมเพื่อปฏิวัติสังคมนี้ เป็นเรื่องราวที่จำลองเหตุการณ์มาจากบันทึกเรื่องที่มฆมานพใช้เทคโนโลยีควบคู่คุณธรรมทั้ง ๗ ข้อ(วัตรบท ๗ ประการ)เพื่อปฏิวัติสังคมแบบอสูรที่รกชัฏเสื่อมร้างจากความเจริญนั่นเอง และในนิทานเมื่อตัวเอกสามารถเอาชนะกองทัพยักษ์ได้แล้ว จึงต้องขึ้นปกครองเมืองยักษ์แทนเพื่อควบคุมชี้นำพฤติกรรมของสังคมเมืองนั้นๆด้วย
 
เรื่องการเมืองในวรรณคดีนี้ มีประเด็นซ้อนซ่อนอยู่ในเรื่องสังข์ทองด้วย เพราะนางพันธุรัตเองก็ความต้องการให้พระสังข์ปกครองเมืองยักษ์ต่อจากนาง ทว่าในตอนนั้นพระสังข์ยังไม่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีที่จะใช้ควบคุมพวกยักษ์ให้อยู่ใต้อำนาจและภารกิจตามหามารดาก็ยังไม่ได้เริ่มต้นด้วย หากพระสังข์ยอมอยู่ปกครองตามความต้องการของนางพันธุรัตแล้วก็เท่ากับหลงระเริงในกามคุณไปโดยสมบูรณ์แบบอยู่กับความประมาทโดยไร้ซึ่งเทคโนโลยีที่จะใช้ควบคุมพวกยักษ์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการปฏิวัติซ้ำซ้อนได้(และพระสังข์คงได้ตายแน่ๆแม่ก็หาไม่เจอ) ซึ่งประเด็นเหล่านั้นได้สรุปรวมไว้แล้วในเรื่อง สาเหตุที่มาเรื่อง พระสังข์(ทอง)หนีนางพันธุรัต
 
ฉะนั้น หากต้องการตอนจบที่เรียกได้ว่า"สมบูรณ์จริงๆ"ตามสูตร"พุทธ"ในบั้นปลายชีวิตตัวเอกทั้งหลายที่ได้ฝ่าฟันต่อสู้กับยักษ์(กามคุณ)ทั้งน้อยใหญ่จนสามารถเอาชนะได้ทั้งหมดแล้ว จะต้องออกผนวชเป็นฤาษีก็ได้ เพราะการชนะยักษ์มีค่าเท่าการเอาชนะการครอบงำของกามคุณในตัวเองได้ เพราะระดับจิตของผู้ที่สามารถเอาชนะกามคุณได้แล้วจะพ้นไปจากฉกามวจรภูมิทั้ง๖ ยกระดับจิตเข้าสู่ชั้นพรหมซึ่งพ้นจากขอบเขตการครอบงำของกามคุณทั้งหลายไปแล้วนั่นเอง
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
20 VOTES (4/5 จาก 5 คน)
VOTED: เผลอหัวใจ, Tabebuia, ไปเซเว่นเอาอะไรไหม๊, zerotype
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เลขเด็ด "ไอ้ไข่ให้โชค" งวดวันที่ 1 ธันวาคม 67 มาแล้ว..คอหวยอย่าพลาด!
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
สิงโตคู่หนึ่งซั่มกัน อย่างไม่แคร์สายตาฝูงควาย ที่ยืนดูอยู่กัน จอมพลัง ไม่ทอดทิ้ง! เร่งเข้าช่วย อินฟลูเอนเซอร์ มอสเจีย หลังจากที่พี่เลี้ยงชาวพม่าทำให้ลูกเกิดอุบัติเหตุ นอนรักษาตัวในห้อง ICUแอนนา ยอมรับสภาพคดีฉ้อโกง ศาลสั่งจำคุกกว่า 100 ปี พร้อมฝากคำขอโทษผู้เสียหาย
กระทู้อื่นๆในบอร์ด นิยาย เรื่องเล่า
เปิดตำนาน "ลิโป้" ขุนศึกผู้ห้าวหาญแห่งยุคสามก๊ก4 หัวใจแห่งขุนเขา กำเนิดซีรีย์ไทยชุดแรกของช่อง 3 แจ้งเกิดดาราแถวหน้าของวงการเปิดตำนาน "ยุทธหัตถี" วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเปิดตำนาน "กวนอู" เทพเจ้าแห่งสงคราม ผู้ซื่อสัตย์และเกรียงไกร
ตั้งกระทู้ใหม่