หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

กองทัพเรือ ร่วมกับ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม จัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พิธีบวงสรวงพระเจ้าตากสินมหาราช

โพสท์โดย New Delight

กองทัพเรือ ร่วมกับ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม จัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณและวางพานพุ่มถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เนื่องในวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าสักการะ

    เมื่อวันที่ (28 ธันวาคม 2559) เวลา 08.30 น. ที่ผ่านมา พลเรือเอกทวีชัย บุญอนันต์ ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือและ พลเรือเอก ประเจตน์ ศิริเดช ประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม ได้ร่วมกันเป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณและวางพานพุ่มถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เนื่องในวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ พระราชวังเดิม กองบัญชาการกองทัพเรือ บางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยตลอดทั้งวันนี้ กองทัพเรือ และ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม ได้เปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้ามาสักการะ

สำหรับพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เริ่มขึ้นในเวลา 08.30 น. โดย พลเรือเอกทวีชัย บุญอนันต์ ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ ประธานในพิธี ได้นำผู้ร่วมพิธีฯ จากส่วนบัญชาการ ส่วนกำลังรบ ส่วนยุทธบริการ ส่วนการศึกษาและวิจัย ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กล่าวคำถวายสดุดี ถวายความเคารพพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วางพานพุ่มถวายสักการะ ถวายพวงมาลัย และจุดธูปเทียน ถวายพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  สำหรับพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพลเรือเอก พลเดช เจริญพูล รองผู้บัญชาการทหารเรือผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานร่วมในพิธีฯ โดยกองทัพเรือเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ และพระบรมรูป สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมทั้งเยี่ยมชมโบราณสถานในพระราชวังเดิม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระหว่างเวลา 09.00 - 16.00 น. พร้อมทั้งมีการจำหน่ายวัตถุมงคล อาทิ หนังสือพระราชประวัติ /เหรียญสมเด็จพระเจ้าตากสิน เสื้อ ฯลฯ

    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระนามเต็ม คือ พระศรีสรรเพชร สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราชรามาธิบดี บรมจักรพรรดิศร บวรราชาธิบดินทร์ หริหรินทร์ธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์ คุณรุจิตร ฤทธิราเมศวร บรมธรรมิกราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฐวิสุทธิ์ มกุฎประเทศคตา มหาพุทธังกูร บรมนาถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัฐ ราชธานีบรีรมย์อุดม พระราชนิเวศมหาสถาน) ทรงมีพระนามเดิมว่า สิน เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ นกเอี้ยง (ภายหลังทรงได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระเทพามาตย์) ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาธิไธยว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อมีพระชนมายุได้ 48 พรรษา รวมสิริดำรงราชสมบัติ 15 ปี มีพระราชโอรส-พระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 30 พระองค์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยอาณาจักรธนบุรี

    สมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าเมืองตาก ผู้คนจึงเรียกพระองค์ท่านว่า พระเจ้าตาก ในปีพุทธศักราช 2308 - 2309 พระยาตากได้นำไพร่พลลงมาสมทบเพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยาระหว่างที่พม่าล้อมกรุงอยู่ ได้ทำการต่อสู้จนเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งมากที่สุดคนหนึ่ง และได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อมาในวันที่ 4 มกราคม พุทธศักราช 2310 ก่อนที่ กรุงศรีอยุธยา จะเสียเอกราช ให้แก่พม่า ในวันที่ 8 เมษายน 2310 พระยาตากได้รวบรวมกำลังตีฝ่าวงล้อม ของพม่าไปตั้งมั่นและรวบรวมไพร่พลที่เมืองจันทบุรี เพื่อที่จะกลับ มากู้เอกราชต่อไป

    ในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2310 พระยาตากได้ยกกองทัพเรือออกจากจันทบุรีล่องมา ตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ต่อสู้จนยึดกรุงธนบุรีคืนจากพม่าได้ ต่อจากนั้น ได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2310 และสามารถกอบกู้เอกราชให้ชาติไทยได้เป็นผลสำเร็จ โดยใช้เวลาเพียง 7 เดือนนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา ให้กับพม่า หลังจากนั้น ได้ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ แทนกรุงศรีอยุธยา ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมจนไม่สามารถบูรณะให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังหลวง (พระราชวังเดิมในปัจจุบัน) ขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ เจ้าพระยา ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์เดิม (ซึ่งภายหลังได้รับการเปลี่ยนชื่อ เป็นป้อมวิชัยประสิทธิ์) อาณาเขตของพระราชวังเดิมในสมัยนั้นมีพื้นที่ตั้งแต่ป้อมวิไชย ประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม (คลองนครบาล) โดยรวมวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) เข้าไปในเขตพระราชวัง

   แม้ตลอดรัชสมัยของพระองค์จะมีการทำศึกสงครามอยู่เกือบตลอดเวลา เพื่อรวบรวมแผ่นดิน ให้เป็นปึกแผ่น และขับไล่พม่าออกจากราชอาณาจักร แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศในด้านต่างๆ ทั้งในด้านกฎหมายและศาล การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม ได้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆ เช่น จีน โปรตุเกส อังกฤษ และฮอลันดารวมถึงทรงขยายราชอาณาเขตราชอาณาจักรสมัยกรุงธนบุรี โดยทิศเหนือ ตลอดอาณาจักรล้านนา ทิศใต้ตลอดเมืองไทรบุรีและตรังกานู ทิศตะวันออกตลอดกัมพูชาจรดญวณใต้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือตลอดเมืองพุทไธมาศ จรดเมืองมะริดและตะนาวศรี ส่วนทิศตะวันตก จรดเมืองมะริดและตะนาวศรีไปจนถึงมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนั้นยังทรงส่งเสริมทางด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรม ได้โปรดให้มีการ สร้างถนนและขุดคลอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคม รวมทั้งการศึกษาในด้านต่างๆ ของประชาชนอีกด้วย

     สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะได้ ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวาย พระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"

    สำหรับโบราณสถานในพระราชวังเดิม ดำเนินการโดย มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม มี พลเรือเอก ประเจตน์ ศิริเดช เป็น ประธานมูลนิธิ และ แพทย์หญิง คุณหญิง นงนุช ศิริเดช เป็นรองประธานมูลนิธิ ได้ริเริ่มโครงการขึ้นในปี พุทธศักราช 2538 ในสมัยที่ พลเรือเอก ประเจตน์ ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้บัญชาการทหารเรือ ด้วยจุดมุ่งหมายให้เป็นที่สำหรับประชาชนทั่วไปได้ศึกษาหาความรู้จากแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาติและรักษาสิ่งที่เป็นอนุสรณ์อันเป็นมรดกวัฒนธรมของชาติไว้ โดยก่อนเริ่มการบูรณะได้มีการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมและโบราณคดี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องหรือใกล้เคียงและคงสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด

    พระราชวังเดิม หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า พระราชวังกรุงธนบุรี เป็นพระราชวังหลวงเพียงแห่งเดียวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของ ป้อมวิไชยเยนทร์ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

    สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดให้สร้างพระราชวังเดิมขึ้นภายหลังจากที่ทรงกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติไทยเมื่อปี พุทธศักราช 2310 เพื่อใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการเมื่อทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีพร้อมกับปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ ตำแหน่งที่ตั้งของพระราชวังหลวงนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากมีป้อมปราการที่มั่นคง สามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญ

    อาณาเขตของพระราชวังเดิมในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพื้นที่ตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม โดยรวมวัดอรุณฯ กับ วัดโมฬีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) เข้าไว้ในเขตพระราชวัง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร โดยสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชวังกรุงธนบุรี จึงได้มีชื่อว่า พระราชวังเดิม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และได้ทรงกำหนดเขตวังให้แคบกว่าเดิมโดยให้วัดทั้งสองแห่งอยู่ภายนอกพระราชวัง พระราชวังเดิมจึงเหลืออาณาเขตเพียงทิศเหนือจรดวัดอรุณฯ ทิศใต้ จรดคลองบางกอกใหญ่ ทิศตะวันออก จรดแม่น้ำเจ้าพระยา และทิศตะวันตก จรด วัดท้ายตลาด ดังเช่นปัจจุบัน

    เนื่องจากพระราชวังกรุงธนบุรี มีความสำคัญในทำเลที่ตั้ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาประทับสำหรับพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้มาประทับที่พระราชวังเดิม มีดังนี้

- เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์

- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร

- สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี

- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ

- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศเรศรังสรรค์

- สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์

นอกจากนั้นแล้ว พระราชวังเดิม ยังเคยเป็นสถานที่พระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม

    ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2443 โดยทรงมีพระราชกระแสให้กองทัพเรือ รักษา ซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่มีมาแต่เดิมอันได้แก่ ท้องพระโรง พระตำหนักของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ ศาลศีรษะปลาวาฬ ซึ่งกองทัพเรือ หรือ กรมทหารเรือในขณะนั้น ได้ซ่อมแซมโบราณสถานดั้งเดิม อาคารและเรือนพัก เป็นกองบังคับการโรงเรียนนายเรือ อาคารเรียนและอาคารนอนนักเรียน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนพุทธศักราช 2449 (ปัจจุบันกองทัพเรือ ได้ถือเอาวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันกองทัพเรือ)

    ภายหลังจากที่โรงเรียนนายเรือ ได้ย้ายออกไปนอกพระราชวังเดิม กองทัพเรือ ได้ดัดแปลงแก้ไขอาคารเดิมโรงเรียนนายเรือ เป็นแบบทรงไทย ใช้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือตราบจนปัจจุบัน และกองทัพเรือ ก็ได้ดำเนินการซ่อมแซมโบราณสถานต่าง ๆ ภายในพระราชวังเดิมเรื่อยมา จวบจนในปี พุทธศักราช 2538 จึงได้มีการก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานภายในพระราชวังเดิม เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ดูแลรักษา ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลของโบราณสถานภายในพระราชวังเดิม

สำหรับโบราณสถานภายในพระราชวังเดิม ประกอบไปด้วย

1.อาคารท้องพระโรง เป็นอาคารประธานของพระราชวังเดิม มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทย ตรีมุข วัสดุมุงหลังคาเป็นกระเบื้องดินเผาสีส้มชนิดหางเหลี่ยมไม่เคลือบสี ด้านจั่วประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และนาคสะดุ้ง สร้างขึ้นในราวปี พุทธศักราช 2310 พร้อมกับการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี อาคารท้องพระโรงประกอบไปด้วย พระที่นั่งสององค์เชื่อมต่อกัน คือ พระที่นั่งองค์ทิศเหนือ เรียกว่าท้องพระโรง ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ขณะเสด็จออกว่าราชการ ส่วนพระที่นั่งองค์ทิศใต้ที่อยู่ติดกับพระที่นั่งองค์แรก เรียกกันว่าพระที่นั่งขวาง เป็นส่วนราชมณเฑียร หรือพระราชฐานชั้นกลางอันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์

2.อาคารตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในระหว่างปี พุทธศักราช 2367 – 2394 โดยคงจะมีพระดำริให้สร้างขึ้นพร้อมกับการปรับปรุงอาคารตำหนักเก๋งคู่หลังเล็กที่มีมาแต่เดิม มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่าง ไทยกับจีน หลังคาทรงจั่วแบบจีน ภายในอาคารมีพระทวารและพระแกลแบบไทย ส่วนหลังคามีการเขียนลวดลายจีนแบบปูนเปียก บริเวณหน้าจั่วและคอสองโดยรอบอาคาร สำหรับบริเวณกรอบเช็ดหน้า มีการจำหลักลวดลายเป็นรูปฐานสิงห์ อันเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกฐานานุศักดิ์ของอาคารที่ใช้เป็นที่ประทับของเจ้านายเท่านั้น

3.อาคารเก๋งคู่หลังเล็ก สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 1 - 2 เนื่องจากรากฐานของอาคารอยู่ในระดับชั้นดินของยุคดังกล่าว รูปแบบของอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงประตูหน้าต่างให้เข้ากับสภาพอากาศในสมัยหลัง

4.อาคารตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ราวปี พุทธศักราช 2367 – 2394 ลักษณะอาคารเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบตะวันตกหรือเรียกว่าตึกแบบอเมริกัน และหากพิจารณาทางด้านประวีติศาสตร์สถาปัตยกรรมอาจถือได้ว่าอาคารนี้เป็นตำหนักแบบตะวันตกหลังแรกที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอาจเป็นตึกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มีหน้าจั่วปีกนก 2 ด้าน ส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาคารที่เป็นไม้ ทาด้วยสีเขียวแก่ทั้งหมด อันเป็นสีที่นิยมใช้สำหรับตำหนักหรืออาคารในสมัยนั้น

5.ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิมราวปี พุทธศักราช 2424 – 2443 ได้มีพระดำริให้สร้างแทนศาลหลังเดิมที่ชำรุดทรุดโทรม

6.ศาลศีรษะปลาวาฬ ในระหว่างการขุดพื้นที่ระหว่างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระตำหนักเก๋งคู่ ได้พบฐานอาคารทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งจากการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดี คาดว่าน่าจะเป็นอาคารศาลศีรษะปลาวาฬหลังเดิม ที่ภายในมีประดูกปลาวาฬ โดยศาลหลังนี้ได้พังทลายในวันเดียวกับที่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ แล้วไม่ได้มีการสร้างขึ้นมาใหม่ จึงได้มีการสร้างขึ้นทดแทนมาในภายหลัง

โบราณสถานภายในพระราชวังเดิม เปิดให้ผู้สนใจ เข้ามาเยี่ยมชมได้ศึกษาหาความรู้ทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในยุคกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยสามารถติดต่อได้ที่ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานภายในพระราชวังเดิม หมายเลขโทรศัพท์ 0 2466 9355 ในวันและเวลาราชการ

เนื้อหาโดย: New Delight
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
New Delight's profile


โพสท์โดย: New Delight
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เขมรมาเหนือเมฆ เรียกประชาชนที่อยู่รอบนครวัดมาให้ทำการปรับปรุงบ้านใหม่ ให้เน้นรูปทรงบ้านให้เป็นทรงโบราณ นักท่องเที่ยวมาเที่ยวจะได้ฟินๆทำรากฟันเทียม แต่หน้ากลายเป็นสัตว์ประหลาดเตือนภัย มิจฉาชีพหลอกแจกบัตรเติมน้ำมัน ดูดเงินหมดบัญชี7 ที่มา คําว่ากระบี่ มีต้นเค้ามาจากคําไหน?สิ่งที่สาวก iPad " รอคอยมา 14 ปี "7 สิ่งที่ควรทำเมื่ออายุ 40ชาวเน็ตแห่แชร์ หนุ่มประกาศขายบ้านด่วน!..เหตุผลสุดอึ้งทีมเชื่อมจิตจ่อฟ้อง! สื่อปล่อยเฟกนิวส์..ไม่เคยบอกเชื่อมจิตแล้วจะไปนิพพานแค๊ปชั่นกวนโอ๊ยย!!..ฮาๆ..คลายเครียดๆ🤪
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
หนุ่มถาม? ควรคิดค่าแรงในการขับรถพาแฟนเที่ยว ดีไหม!เขมรมาเหนือเมฆ เรียกประชาชนที่อยู่รอบนครวัดมาให้ทำการปรับปรุงบ้านใหม่ ให้เน้นรูปทรงบ้านให้เป็นทรงโบราณ นักท่องเที่ยวมาเที่ยวจะได้ฟินๆไม่ได้มุสาวาปึ้ง!! สาวโชว์บิลค่าไฟเดือนนี้ สูงถึง 77 ล้านบาท นี่คงใช้กันทั้งจังหวัดสินะ คาดว่าเจ้าหน้าที่น่าจะจดเลขผิด 😁สาวแทบช็อก! เจอค่าไฟสุดโหด..เดือนเดียวพุ่ง 77 ล้านบาท
กระทู้อื่นๆในบอร์ด ข่าววันนี้
เฉลยแล้ว สาเหตุที่ชาวจีนทำเครื่องบินวุ่นยกลำเตือนภัย มิจฉาชีพหลอกแจกบัตรเติมน้ำมัน ดูดเงินหมดบัญชีสาวแทบช็อก! เจอค่าไฟสุดโหด..เดือนเดียวพุ่ง 77 ล้านบาทอยากกินไหมไส้กรอกแรคคูนจากเยอรมัน
ตั้งกระทู้ใหม่