เชน
ศาสนาเชน, ไชนะ หรือ ชินะ (แปลว่า ผู้ชนะ) หรือ เดียรถีย์นิครนถ์ (แปลว่า ศาสนานอกพุทธศาสนา) (อังกฤษ: Jainism) เป็นศาสนาในประเทศอินเดีย อนุมานกาลราวยุคเดียวกับสมัยพุทธกาล เป็นหนึ่งในลัทธิสำคัญทั้งหก ที่เกิดร่วมสมัยกับ พระพุทธเจ้า
ศาสนาเชนเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยมเช่นเดียวกับศาสนาพุทธ คือไม่นับถือพระเจ้าหรือเทพเจ้า ถือหลักการไม่เบียดเบียน หรืออหิงสาอย่างเอกอุ ถือว่าการบำเพ็ญตนให้ลำบากคืออัตตกิลมถานุโยค เป็นทางนำไปสู่การบรรลุธรรมที่ ผู้ที่ฝึกฝนดีแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดทางกาย วาจา ใจ
มีศาสดาคือพระมหาวีระ หรือ นิครนถนาฏบุตร หรือ องค์ตีรถังกร(ผู้สร้างทางข้ามพ้นไป)โดยศาสนิกเชนถือว่าเป็นศาสดาองค์ที่ 24 ของศาสนาเชน จึงถือว่าศาสนาเชนเก่าแก่กว่าศาสนาพุทธ
ศาสนาเชนเกิดขึ้นในอนุทวีปอินเดียเมื่อประมาณศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ. ศาสนานี้คัดค้านศาสนพิธีและความเชื่อในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ ปัจจุบันมีเชนศาสนิกชนประมาณ 6 ล้านคน ทั่วอินเดีย โดยมากมีฐานะดี เพราะเป็นพ่อค้าเสียส่วนใหญ่
ศาสดาของศาสนาเชน เดิมมีพระนามเดิมว่า "วรรธมาน" แปลว่า ผู้เจริญมีกำเนิดในสกุลกษัตริย์ เกิดในเมืองเมืองเวสาลี พระบิดานามว่า สิทธารถะ พระมารดานามว่า ตริศาลา เมื่อเจริญวัยได้รับการศึกษาศิลปศาสตร์หลายอย่างโดยควรแก่ฐานะแห่งวรรณะกษัตริย์ เผอิญวันหนึ่งขณะเล่นอยู่กับสหาย ได้มีช้างตกมันตัวหนึ่งหลุดออกจากโรงวิ่งมาอาละวาด ทำให้ฝูงชนแตกตื่นตกใจ ไม่มีใครจะกล้าเข้าใกล้และจัดการช้างตกมันตัวนี้ให้สงบได้ แต่เจ้าชายวรรธมานได้ตรงเข้าไปหาช้างและจับช้างพากลับไปยังโรงช้างได้ตามเดิม เพราะเหตุที่แสดงความกล้าหาญจับช้างตกมันได้จึงมีนามเกียรติยศว่า "มหาวีระ" แปลว่า ผู้กล้าหาญมาก ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกขานกันต่อมาของศาสดาพระองค์นี้
ศาสดามหาวีระมีพี่น้องร่วมพระมารดาเดียวกัน 2 องค์ คือ พระเชษฐภคินี และพระเชษฐภาดา โดยท่านมหาวีระ เป็นพระโอรสองค์สุดท้าย เมื่อมีพระชนมายุได้ 12 พรรษา ทรงได้รับพิธียัชโญปวีตคือพิธีสวมด้ายมงคลแสดงพระองค์เป็นศาสนิกตามคติศาสนาพราหมณ์ หลังจากพระบิดาได้ทรงส่งเจ้าชายไปศึกษาลัทธิของพราหมณาจารย์หลายปี เจ้าชายทรงสนพระทัยในการศึกษาแต่ในพระทัยมีความขัดแย้งกับคำสอนของพราหมณ์ที่ว่า วรรณะพราหมณ์ประเสริฐที่สุดในโลก ส่วนวรรณะอื่นต่ำต้อย แม้วรรณะกษัตริย์ยังต่ำกว่าวรรณะพราหมณ์ แต่แล้วพวกพราหมณ์ได้ประพฤติกาย วาจาและใจ เลวทรามไปตามทิฏฐิของลัทธินั้นๆ
เมื่อศาสดามหาวีระมีพระชนมายุได้ 19 พรรษา พระบิดาทรงจัดให้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธรา ซึ่งเวลาต่อมาได้พระธิดาองค์หนึ่งนามว่า อโนชา หรือ เจ้าหญิงปริยทรรศนา จนพระชนมายุได้ 28 พรรษา ได้มีความเศร้าโศกเสียพระทัยอย่างมากจากการสิ้นพระชนม์ของพระบิดาและพระมารดา ด้วยวิธีการอดอาหารตามข้อวัตรปฏิบัตรในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งศาสนาพราหมณ์ถือว่าเป็นบุญอย่างหนึ่ง
การสูญเสียพระบิดาและพระมารดาได้ทำให้เจ้าชายทรงเศร้าพระทัยมาก ทรงสละพระชายาและพระธิดา เปลี่ยนผ้าคลุมพระกายเป็นแบบนักพรต เสด็จออกจากพระนครและได้ทรงประกาศมหาปฏิญญาในวันนั้นว่า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป 12 ปี ขอไม่พูดกับใครแม้คำเดียว พระมหาวีระได้ทรงบำเพ็ญตนเป็นนักพรตถือการขอเป็นอาชีพ ได้เสด็จเที่ยวไปตามคามนิคมต่างๆโดยมิได้พูดอะไรกับใครเป็นเวลา 12 ปี ได้บรรลุความรู้ขั้นสูงสุดเรียกว่า ไกวัล ถือเป็นผู้หลุดพ้นกิเลสทั้งปวง เป็นพระอรหันต์และเป็นผู้ชนะโดยสิ้นเชิง
เมื่อพระมหาวีระได้ทรงบรรลุไกวัลแล้ว จึงทรงพิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องละปฏิญญานั้นเสียกลับมาสู่ภาวะเดิมคือต้องพูดกับคนทั้งหลาย เพื่อช่วยกันปฏิรูปความคิดและความประพฤติของคนในสังคมเสียใหม่ แล้วได้เริ่มเที่ยวประกาศศาสนาใหม่ อันมีชื่อว่า ศาสนาเชน หรือ ไชนะ แปลว่า ผู้ชนะ
ศาสดามหาวีระได้ทรงใช้เวลาในการสั่งสอนสาวกไปตามนิคมต่างๆเป็นเวลา 30 ปี และได้ทรงเข้าสิทธศิลา(เปรียบได้กับนิพพานของศาสนาพุทธ)หรือมรณภาพ เมื่อมีพระชนมายุได้ 72 พรรษา ในประมาณก่อนปีพุทธศักราชที่ 29 ที่เมืองปาวา หรือสาธารณรัฐมัลละ และเมืองนี้ได้เป็นสังเวชนียสถานสำหรับศาสนิกเชนทุกคน
ศาสนาเชนเป็นศาสนาทวินิยม กล่าวคือ มองสภาพความจริงว่ามีส่วนประกอบ 2 สิ่งที่มีสภาวะเที่ยงแท้เป็นนิรันดร คือ 1.ชีวะ ได้แก่ วิญญาณ หรือสิ่งมีชีวิต หรือ อาตมันซึ่งเป็นอัตตา จริงแท้(ตรงข้ามกับศาสนาพุทธที่เป็นอนัตตา) 2.อชีวะ ได้แก่ อวิญญาณ หรือสิ่งไม่มีชีวิต ได้แก่สสารวัตถุต่างๆ
สสารประกอบด้วยองค์ประกอบขั้นพื้นฐาน 5 ประการ คือ 1. การเคลื่อนไหว(ธัมมะ) 2. การหยุดนิ่ง(อธัมมะ) 3.อวกาศ(อากาศ) 4.สสารและ5.กาลเวลา โดยทั้งหมดเป็นนิรันดรและปราศจากการเริ่มต้น
สรรพสิ่งทั้งหมดยกเว้นชีวะ(วิญญาน) เป็นสิ่งไม่มีชีวิต เวลาและเอกภาพเป็นสิ่งนิรันดร ไม่มีรูป โลกคงมีอยู่ไม่มีวันจบสิ้น เป็นสภาพนิรันดร ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่สภาวะเปลี่ยนแปลงคงอยู่ตลอดกาล อวกาศเป็นสิ่งขยายไร้รูป เป็นที่รองรับเนื้อที่ทั้งมวลของเอกภาพ และเอกภาพมีรูปร่างเหมือนคนยืนกางขา เอามือเท้าสะเอว รูปร่างเพรียว เอวแบน ตรงกลางเอกภาพมีที่สถิตแห่งดวงวิญญาณ เป็นบริเวณที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทุกชนดมีอยู่ เหนือบริเวณตอนกลางของเอกภาพขึ้นไป คือ โลกชั้นบน โลกชั้นนี้มีสองส่วน มีสวรรค์ 16 ชั้น มีเขตของท้องฟ้า 14 เขต ชั้นบนที่สุดของเอกภาพเป็นที่ตั้งของ สิทธศิลา ซึ่งเป็นสถานที่มีลักษณะบริเวณโค้ง เป็นที่สถิตของวิญญาณที่หลุดพ้นออกจากกายที่อยู่บนโลกมนุษย์
คัมภีร์อาคมะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สิทธานตะ และคัมภีร์กัลปสูตร มีอยู่ 45 เล่ม ในปัจจุบันเหลืออยู่แค่37 เล่ม คัมภีร์ของศาสนาเชนเป็นเรื่องที่ยากแก่การศึกษาค้นคว้า เพราะไม่ค่อยเปิดเผยแก่สาธารณชนเหมือนศาสนาอื่น โดยการพยายามจะเก็บซ่อนคัมภีร์ไว้อย่างมิดชิด ประกอบด้วยอังคะ 12 อังคะหรือ ส่วน แบ่งอุปางคะ 11 ส่วน คือ มูลสูตร 4 เล่ม เป็นเจตสูตร 6 เล่ม เป็นคูสิกสูตร 2 เล่ม และเป็นปกิณกะ 10 เล่ม แต่อังคะที่ 12 คือคัมภีร์ฤทธิวาทได้สูญหายไป
ข้อปฏิบัติที่จะบรรลุโมกษะฬน มีอยู่ 3 ประการ คือ
- ความเชื่อที่ถูกต้อง ได้แก่ เชื่อในศาสดาทั้ง 24 องค์ของศาสนาเชน เชื่อในเชนศาสตร์ เชื่อในคัมภีร์ของศาสนาเชน และเชื่อในนักบวชผู้สำเร็จผลในศาสนาเชน
- ความรู้ที่ถูกต้อง ได้แก่ รู้สิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง และด้วยความแน่ใจ
- ความประพฤติที่ถูกต้อง ได้แก่ หลักอนุพรต 5 (เปรียบได้กับศีล 5 ของศาสนาพุทธ )อันเป็นหลักธรรมขั้นพื้นฐาน
1. อหิงสา การไม่เบียดเบียน ไม่ทำลายชีวิต 2. สัตยะ ไม่พูดเท็จ 3. อัสเตยะ ไม่ลักขโมย 4. พรหมจรยะ การไม่ประพฤติผิดในกาม 5. อปริครหะ การพอเพียงไม่โลภ
ข้อปฏิบัติทางศาสนา
ข้อปฏิบัติที่จะบรรลุโมกษะฬน มีอยู่ 3 ประการ คือ
- ความเชื่อที่ถูกต้อง ได้แก่ เชื่อในศาสดาทั้ง 24 องค์ของศาสนาเชน เชื่อในเชนศาสตร์ เชื่อในคัมภีร์ของศาสนาเชน และเชื่อในนักบวชผู้สำเร็จผลในศาสนาเชน
- ความรู้ที่ถูกต้อง ได้แก่ รู้สิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง และด้วยความแน่ใจ
- ความประพฤติที่ถูกต้อง ได้แก่ หลักอนุพรต 5 (เปรียบได้กับศีล 5 ของศาสนาพุทธ )อันเป็นหลักธรรมขั้นพื้นฐาน
1. อหิงสา การไม่เบียดเบียน ไม่ทำลายชีวิต 2. สัตยะ ไม่พูดเท็จ 3. อัสเตยะ ไม่ลักขโมย 4. พรหมจรยะ การไม่ประพฤติผิดในกาม 5. อปริครหะ การพอเพียงไม่โลภ
ข้อปฏิบัติของผู้ครองเรือน
- เว้นจากการฆ่าสัตว์
- เว้นจากการพูดเท็จ
- เว้นจากการลักฉ้อ
- สันโดษในลูกเมียตน
- มีความปรารถนาพอสมควร
- เว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นอาหาร
- อยู่ในเขตของตนตามกำหนด
- พอดีในการบริโภค
- เป็นคนตรง
- บำเพ็ญพรตประพฤติวัตรในคราวเทศกาล
- รักษาอุโบสถ
- บริบูรณ์ด้วยปฏิสันถารต่ออาคันตุกะ
ข้อปฏิบัติของบรรพชิต
เพิ่มเติมจากข้อปฏิบัติของผู้ครองเรือนอีก 3 ข้อคือ
- ห้ามประกอบเมถุนธรรม
- ห้ามเรียกสิ่งต่างๆว่าเป็นของตนเอง
- กินอาหารหลังเที่ยงได้ แต่ห้ามกินยามราตรี
จุดหมายสูงสุดทางศาสนา
จุดหมายสูงสุดของศาสนาเชนคือการบรรลุไกวัลย์ ด้วยการ"นิรชระ"หรือการทำลายกรรม เพราะการกระทำซึ่งเป็นเหตุให้เกิด"พันธะ"การถูกผูกมัด(เปรียบได้กับอุปาทาน การยึดมั่นถือมั่นของศาสนาพุทธ) เป็นการการบำเพ็ญตนให้หลุดพ้นจากกิเลส หลุดพ้นจากสังสาระ การเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งอาจเปรียบได้กับโมกษะของศาสนาพราหมณ์หรือนิพพานของศาสนาพุทธ ในศาสนาพราหมณ์ เมื่อวิญญานหลุดพ้นแล้วจะไปรวมอยู่กับพรหม ส่วนศาสนาเชน เมื่อวิญญานหลุดพ้นแล้ว ก็จะไปอยู่ในส่วนหนึ่งของเอกภาพที่เรียกว่า "สิทธศิลา" ซึ่งเป็นดินแดนแห่งความสุขนิรันดร ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก
นิกายของศาสนาเชน
เมื่อพระมหาวีระสิ้นไปแล้วศาสนิกก็แตกแยกกันปฏิบัติหลักธรรม จากหลักธรรมที่เรียบง่ายก็กลาย เป็นยุ่งเหยิง พ.ศ. 200 ก็แตกเป็น 2 นิกาย คือ
- นิกายทิคัมพร นุ่งลมห่มฟ้า แบ่งแยกออกเป็นนิกายย่อยอีก 5 นิกาย
- นิกายเศวตัมพร นุ่งขาวห่มขาว แบ่งแยกออกเป็นนิกายย่อยอีก 84 นิกาย