หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

มหาสงครามอินโดจีนครั้งที่1 เดียนเบียนฟู

โพสท์โดย SoldLon

 

สงครามอินโดจีนครั้งแรก  - เดียนเบียนฟู

ปี ๑๙๕๓

วันที่ ๙ เมษายน, หลังจากฝ่ายเวียดมินห์ประสบความล้มเหลวในการเข้าโจมตีกำลังของฝรั่งเศสในลาว นายพล เกี๊ยบ หวังว่า ฝรั่งเศสจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ สิ่งเดียวที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในเดือนพฤษภาคมคือ นายพล อองรี นาวาร์ (General Henri Navarre) เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการในอินโดจีน เขาได้รายงานกลับไปยังรัฐบาลฝรั่งเศสว่า “... เป็นไปไม่ได้ที่ฝ่ายเวียดมินห์จะชนะสงครามในอินโดจีน” การพูดเช่นนี้เป็นความหวังที่ดีที่สุดที่หวังว่าจะไม่ต้องจนมุม นาวาร์มองว่า การที่เวียดมินห์โจมตีลาวซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางของการป้องกันอินโดจีนเป็นไปตามแผนที่เขาคาดไว้แล้ว นาวาร์เลือก “เดียนเบียนฟู” เมืองเล็กๆ ห่างจากชายแดนลาวประมาณ ๑๐ ไมล์ และห่างจากฮานอยไปทางตะวันตก ๑๗๕ ไมล์ นาวาร์หวังจะให้เดียนเบียนฟู จะเป็นจุดที่หยุดฝ่ายเวียดมินห์ที่จะรุกเข้าไปในลาว



เดียนเบียนฟู อยู่ในหุบเขาไต (T'ai hills) บนเส้นทางส่งกำลังบำรุงของเวียดมินห์เข้าสู่ลาวผ่านแม่น้ำยม มีพื้นที่สำหรับการส่งกำลังบำรุงทางอากาศที่ญี่ปุ่นสร้างเอาไว้ในปี ๑๙๓๐ ชาวเขาเผ่าไต (T'ai tribesmen) ยังเป็นกลุ่มที่ภักดีต่อฝรั่งเศส ปฏิบัติการ คาสเตอร์ (Operation Castor) เริ่มขึ้นในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๑๙๕๓ โดยทหารพลร่มฝรั่งเศส ๑,๘๐๐ คน จากกองพันทหารพลร่มที่ ๑ และ ๒ กระโดดร่มลงในหุบเขาเดียนเบียนฟู และจัดการกับกองกำลังเล็กๆ ของเวียดมินห์ที่ประจำอยู่ในพื้นที่แห่งนั้น

พื้นที่ยึดครองของพลร่มฝรั่งเศสเป็นหุบเขารูปหัวใจ กว้าง ๘ ไมล์ ยาว ๑๒ ไมล์ ล้อมรอบด้วยป่าไม้หนาทึบ มีการต่อต้านเล็กๆ น้อยๆ จากกองกำลังเวียดมินห์ในพื้นที่ ทหารฝรั่งเศสกับกองกำลังเผ่าไต จากไลเชา (Lai Châu) ทำการลาดตระเวนในบริเวณเทือกเขาด้านเหนือ ปฏิบัติการนี้ดูท่าว่าจะประสบความสำเร็จในเบื้องต้น

นายพล เกี๊ยบ เห็นจุดอ่อนภูมิประเทศที่กำลังของฝรั่งเศสใช้เป็นในที่ตั้ง เขาเริ่มโยกย้ายกำลังส่วนใหญ่ที่ตั้งประจันหน้ากับกำลังของฝรั่งเศสตามแนวเดอลัทเตอร์ มายังเดียนเบียนฟู พอถึงกลางเดือนธันวาคม หน่วยลาดตระเวนของฝรั่งเศสและชาวเผ่าไตก็เริ่มถูกกองกำลังเวียดมินห์ซุ่มโจมตี



การต่อสู้เพื่อเข้าควบคุมพื้นที่ตรงนี้เป็นการสู้รบที่ยาวนานและหนักหนาสาหัสสำหรับกองกำลังเคลื่อนที่เร็วของฝรั่งเศสประจำตะวันออกไกล (French Far East Expeditionary Corps) และเป็นที่จดจำของบรรดาทหารผ่านศึกในนามของ “๕๗ วันนรก” (57 Days of Hell)

ปี ๑๙๕๔ ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู

เกริ่นนำ

การยุทธที่เดียนเบียนฟู (Battle of Dien Bien Phu) หรือในภาษาเวียตนามคือ Chiến dịch Điện Biên Phủ เป็นการยุทธครั้งสุดท้ายของสงครามอินโดจีนครั้งแรก (the First Indochina War) ระหว่างกองทหารฝรั่งเศส กับกองกำลังปฏิวัติเวียดนาม (Vietnamese revolutionary forces) หรือที่รู้จักกันดีในนาม เวียดมินห์ (Viet Minh) เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ๑๙๕๔ ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสจนเป็นเหตุให้ฝรั่งเศสกำลังของฝรั่งเศสต้องถอนกำลังจากเวียดนามเหนือ เป็นการสิ้นสุดของสงครามอินโดจีนครั้งแรกนี้

เรื่องนี้เกิดจากความผิดพลาดของฝรั่งเศสที่ต้องการรุกฝ่ายเวียดมินห์ โดยการส่งกำลังไปตั้งฐานส่งกำลังบำรุงที่เดียนเบียนฟู (Dien Bien Phu) ซึ่งเป็นหุบเขาในเวียดนามตอนเหนือติดชายแดนลาว เพื่อสกัดเส้นทางส่งกำลังบำรุงของฝ่ายเวียดมินห์ ที่ใช้ลำเลียงยุทธปัจจัยไปยังลาวซึ่งขณะนั้นยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส แทนที่ฝ่ายเวียดมินห์ ภายใต้การนำของนายพล โว เหงียน เกี๊ยบ (Vo Nguyen Giap) จะหวั่นไหวกับการเข้ามาของฝรั่งเศส เวียดมินห์กลับลำเลียงปืนใหญ่ขนาดหนักมาตั้งฐานยิงบนหุบเขาที่ล้อมรอบเดียนเบียนฟู และระดมยิงลงมายังที่ตั้งของทหารฝรั่งเศส ต่อมาเวียดมินห์พยายามรุกเข้ายึดครองพื้นที่ของฝ่ายฝรั่งเศสที่เหมือนกับสงครามสนามเพลาะในสงครามโลกครั้งแรก ทหารฝรั่งเศสพยายามผลักดันกำลังของเวียตมินห์ที่พยายามเข้าโจมตีที่ตั้ง ขณะเดียวกันฝรั่งเศสพยายามส่งกำลังหนุนทางอากาศ แต่ในที่สุด ฝ่ายเวียตมินห์ก็สามารถเข้ายึดฐานของฝรั่งเศสได้ทั้งหมด และบีบให้ทหารฝรั่งเศสที่เหลือยอมแพ้

หลังสงครามครั้งนี้สิ้นสุด โดยการเจรจาที่เจนีวา ปี ๑๙๕๔ มีผลให้แบ่งเวียตนามออกเป็นสองส่วนคือ เวียตนามเหนือ และเวียตนามใต้ การรบเกิดขึ้นอีกครั้งในปี ๑๙๕๗ เป็นสงครามเวียตนาม (the Vietnam War หรือสงครามอินโดจีนครั้งที่ ๒ - Second Indochina War)

สถานการณ์ก่อนการสู้รบ

ในปี ๑๙๕๓, ปฏิบัติการของฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนครั้งแรกไม่ได้ผลดีนัก ผลงานของแม่ทัพฝรั่งเศสที่ผ่านมา (Thierry d'Argenlieu, Jean de Lattre de Tassigny, และ Raoul Salan) ยังไม่สามารถหยุดการก่อจลาจลของเวียดมินห์ที่ลุกลามขยายตัวอยู่ตลอดเวลาได้

ในระหว่างการปฏิบัติการปี ๑๙๕๒-๕๓, ทหารเวียดมินห์รุกข้ามแทรกซึมเข้าไปในลาว ฝรั่งเศสไม่สามารถชะลอการรุกคืบของเวียดมินห์ได้หลังเวียดมินห์ประสบความล้มเหลวในความพยายามตัดการส่งกำลังบำรุงของฝรั่งเศสเท่านั้น

ในปี ๑๙๕๓, ฝรั่งเศสเริ่มเสริมแนวป้องกันในบริเวณรอบๆ ฮานอยเพื่อรับมือกับการรุกของเวียดมินห์ที่ครอบครองพื้นที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ฝรั่งเศสจัดตั้งจุดตรวจและปรับปรุงที่มั่นในเมืองต่างๆ รวมทั้งที่ไลเจา (Lai Chau) ที่อยู่ทางเหนือใกล้พรมแดนจีน, นันซานห์ (Nan Sanh) ทางตะวันตกของฮานอย และยังเสริมกำลังที่หลวงพระบางและทุ่งไหหิน (Plaine des Jarres) ทางตอนเหนือของลาว

เดือนพฤษภาคม ๑๙๕๓, นาย Rene Mayer รัฐมนตรีกระทรวงอาณานิคมของฝรั่งเศสได้พบหารือกับนายพล อองรี นาวาร์ ผู้บัญชาการกองกำลังของฝรั่งเศสในอินโดจีนคนใหม่ โดย Mayer มอบหมายให้นาวาร์ มีอำนาจบังคับบัญชาเด็ดขาดแต่ผู้เดียว เพื่อกู้สถานการณ์ทางทหารที่ฝรั่งเศสกำลังเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำให้กลับมาดีขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อฝ่ายรัฐบาลที่กำลังถูกต่อต้านการทำสงครามในอินโดจีนด้วย

เมื่อเดินทางมาถึงนาวาร์ ต้องช๊อคกับสิ่งที่พบคือ ไม่มีแผนปฏิบัติการระยะยาวเลยตั้งแต่นายพล เดอ ลัทเทอร์ จากไป ทุกอย่างปฏิบัติในลักษณะแก้ปัญหาไปวันๆ เท่านั้น ปฏิบัติการทางทหารของฝรั่งเศสจะกระทำต่อเมื่อข้าศึกมีการเคลื่อนไหวก่อน กองกำลังของฝรั่งเศสในอินโดจีนไม่มีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ นาวาร์ เป็นนายทหารที่ได้รับการยกย่องว่าฉลาด, เยือกเย็นสุขุมและเป็นทหารระดับปรมาจารย์ ต้องช๊อค กับความคิดความอ่านแบบไม่มีมันสมองของซาลัง และฝ่ายเสนาธิการของเขา นาวาร์เห็นสภาพที่เป็นอยู่อย่างนี้แต่ก็คิดว่าแม้เขาจะไม่ได้กลับบ้านอย่างผู้ชนะหรืออย่างวีรบุรุษ แต่เขาจะไม่กลับอย่างผู้พ่ายแพ้ เขาจะไม่ยอมให้ชื่อเสียงเขาย่อยยับเมื่อกลับจากอินโดจีน

การป้องกันลาว เรื่องที่ยังหาข้อยุติไม่ได้เกี่ยวกับการรบนี้คือ เรื่องที่นาวาร์ยังต้องรับผิดชอบในการป้องกันลาวด้วย ลาวอยู่ห่างไกลเกินกว่าที่ฝรั่งเศสจะดูแลได้ทั่วถึง เขาจึงต้องยอมรับการที่จะต้องใช้ปฏิบัติการทางทหารที่อยู่ไกลจากฮานอยที่ฝรั่งเศสยังคงมีกำลังทหารที่เข้มแข็งอยู่ ระหว่างการหารือกับคณะกรรมการสภาความมั่นคงแห่งฝรั่งเศส (France's National Defense Committee) ในวันที่ ๑๗ และ ๒๔ กรกฎาคม, นาวาร์ ถามถึงเรื่องที่เขาต้องรับผิดชอบการป้องกันตอนเหนือของลาว ซึ่งผลการหารือครั้งนี้เกิดความเข้าใจผิดและก่อให้เกิดการโต้เถียงเกี่ยวกับสงครามคราวนี้ในเวลาต่อมา หนึ่งปีถัดมา, นาวาร์ยืนยันว่า ความเห็นของเขากับคณะกรรมาธิการไม่ตรงกัน นาย Joseph Laniel รัฐมนตรี ยืนยันว่า ในการหารือกันคราวนั้น คณะกรรมาธิการแนะนำให้นาวาร์ถอนตัวจากลาวหากจำเป็น “กุญแจสำคัญตอนนี้ หลักฐานทำให้เชื่อได้ว่า ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม เขายังไม่ได้ตัดสินใจที่จะตัดลาวออกไป” กว่าปีที่นาวาร์เรียกร้องให้ลานิเอลแสดงหลักฐานดังกล่าวที่ให้นาวาร์ถอนตัวจากลาวได้หากจำเป็น แต่ถูกปฏิเสธจากคณะกรรมาธิการ เพราะนักการเมืองไม่อยากให้ฝ่ายการเมืองเสียหายจากเรื่องนี้

นันซานห์ กับยุทธวิธี hedgehog

แนวคิดทางยุทธวิธีสำหรับเดียนเบียนฟู นาวาร์พยายามหาหนทางที่จะขับไล่พวกเวียดมินห์ออกจากลาวให้ได้ พันเอก หลุยส์ แบร์ทิล (Colonel Louis Berteil) ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจที่ ๗ (Mobile Group 7 หรือ MG.7) จึงเสนอสูตร "herisson" หรือยุทธวิธี “ตัวเม่น” คือกองทหารฝรั่งเศสจะหลอกล่อให้พวกเวียดมินห์เข้ามาโจมตี โดยให้กองทหารฝรั่งเศสกระโดดร่มลงไปสร้างเขตส่งลงในบริเวณที่เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงของเวียดมินห์ไปสู่ลาว ทำให้ทหารเวียดมินห์ที่กำลังสู้รบอยู่ในลาว ถูกตัดขาดและต้องถอนกำลังออกจากลาวไปในที่สุด

ยุทธวิธีนี้ฝรั่งเศสนำประสบการณ์การรบของตนจากการยุทธที่นันซานห์ ที่เกิดขึ้นในปลายเดือนพฤศจิกายนมาสิ้นสุดเอาเมื่อต้นเดือนธันวาคม ๑๙๕๒ ในตอนนั้นนายพล เกี๊ยบ เข้าตีที่มั่นรักษาด่านของฝรั่งเศสที่นันซานห์ ที่มั่นแห่งนี้ส่งกำลังบำรุงได้โดยทางอากาศเท่านั้น ในการรบ, พวกเวียดมินห์ถูกต่อต้านอย่างหนักจนกดดันให้ต้องถอนกำลังที่บอบช้ำเสียหายอย่างหนักกลับไป ฝรั่งเศสเองหวังว่า จะนำยุทธวิธีดังกล่าวมาปรับใช้โดยขยายขนาดของปฏิบัติการให้ใหญ่ขึ้น เพื่อหวังจะล่อให้ทหารเวียดมินห์เข้ามาโจมตีแล้วฝรั่งเศสจะถล่มด้วยอาวุธขนาดหนัก เพราะเชื่อว่าฝ่ายตนมีความเหนือกว่าทั้งปืนใหญ่, ยานเกราะ และการสนับสนุนทางอากาศ ประสบการณ์ในการรบที่นันซานห์ทำให้นายพล นาวาร์ ตัดสินใจใช้ยุทธวิธีนี้ อย่างไรก็ตาม, ฝ่ายเสนาธิการของฝรั่งเศสไม่ได้พิจารณาปัจจัยสำคัญหลายอย่างที่แตกต่างกันระหว่างเดียนเบียนฟูและนันซานห์

ประการแรก, ที่นันซานห์ ที่ตั้งของฝรั่งเศสอยู่ในที่สูงและมีปืนใหญ่จำนวนมากสนับสนุน แต่ที่เดียนเบียนฟู เวียดมินห์ควบคุมพื้นที่สูงเกือบทั้งหมดรอบๆ หุบเขาและมีปืนใหญ่มากกว่าฝรั่งเศสถึง ๔ ต่อ ๑ นายพล เกี๊ยบ เปรียบเดียนเบียนฟู เหมือน “ถ้วยใส่ข้าว” ที่ทหารของเขาอยู่ขอบถ้วย และทหารฝรั่งเศสอยู่ก้นถ้วย

ประการที่สอง, ความผิดพลาดของนายพล เกี๊ยบ ที่นันซานห์ คือการนำกำลังเข้าโจมตีโดยไม่มีการเตรียมการก่อนทั้งๆ ที่เขาสามารถจะทำได้ แต่ที่เดียนเบียนฟู เกี๊ยบ ใช้เวลาเป็นเดือนๆ ในการเตรียมกระสุน, นำปืนใหญ่และปืนต่อสู้อากาศยานเข้าตั้งฐานบริเวณรอบๆ ก่อนใช้ทหารราบเข้าโจมตี อาสาสมัครเวียดมินห์ลักลอบเข้าไปในฐานของฝรั่งเศสเพื่อหาที่ตั้งปืนใหญ่ มีการทำปืนใหญ่ปลอมพรางไว้พร้อมกับใช้ปืนใหญ่จริงยิงค่ายทหารฝรั่งเศสเพื่อหลอกให้ปืนใหญ่ฝรั่งเศสยิงตอบโต้เพื่อให้ทราบจำนวนปืนใหญ่ของฝรั่งเศส เวียดมินห์จึงรู้จำนวนของปืนใหญ่ฝรั่งเศสโดยฝรั่งเศสไม่รู้เลยว่า เวียดมินห์มีปืนใหญ่อยู่เท่าไหร่

ประการที่สาม, ที่นันซานห์ การส่งกำลังบำรุงทางอากาศของฝรั่งเศสไม่ถูกรบกวนจากปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์ แต่ที่เดียนเบียนฟู, นายพล เกี๊ยบ วางปืนต่อสู้อากาศยานจำนวนมากไว้รอบๆ เดียนเบียนฟู จนทำให้การส่งกำลังบำรุงทางอากาศของฝรั่งเศสเป็นไปอย่างยากลำบาก

จากแผนไปสู่ปฏิบัติการ Castor ในเดือนมิถุนายน, พลโท เรอเน่ โคยี (Major General René Cogny) ผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสในเขตตังเกี๋ย เห็นว่า เดียนเบียนฟู เหมือนหลักประหาร นายพล โคยี มองว่าการป้องกันที่เดียนเบียนฟูน้อยเกินไป แต่นายพล นาวาร์ มองว่าเดียนเบียนฟู เป็นที่มั่นที่แข็งแกร่งพอรับการบุกของฝ่ายเวียดมินห์ได้ นาวาร์เลือกเดียนเบียนฟู ขึ้นมาเพื่อใช้ยุทธวิธี "hedgehog" ของแบร์ทิล แผนดังกล่าวถูกคัดค้านจากผู้บังคับหน่วยระดับรองลงไป เช่นนาวาอากาศเอก จอง นิโคต์ (Colonel Jean Nicot) ผบ. กองบินลำเลียง (commander of the French Air transport fleet), พลโท โคยี, และนายพล กิลลิส (generals Gilles) และนายพล เดอคอกซ์ (Dechaux) ผู้บัญชาการปฏิบัติการภาคพื้นดินและผู้บัญชาการปฏิบัติการทางอากาศของยุทธการ CASTOR ตั้งแต่เริ่มแผน นายพล นาวาร์ ปฏิเสธการคัดค้านแผนการของเขา และตัดสินใจเริ่มแผนในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน, โดยกำหนดให้ปฏิบัติการเริ่มในอีก ๓ วันต่อไป คือวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๑๙๕๓

เหตุผลที่นาวาร์ ตัดสินใจเดินหน้าปฏิบัติการนี้ต่อไปแม้จะเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การปฏิบัติการครั้งนี้มีอุปสรรค เพราะได้รับคำรับรองย้ำแล้วย้ำอีกจากนายทหารการข่าวของเขาว่า ปฏิบัติการครั้งนี้มีความเสี่ยงน้อยมากจากการต่อต้านของกำลังข้าศึกขนาดใหญ่ เดิมในการป้องกันลาว, นาวาร์มีทางเลือก ๓ ทางคือ : การใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็ว (Mobile warfare) ซึ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับภูมิประเทศป่าเขาในเวียดนาม; การวางแนวป้องกัน (linear defense line) ตามแนวชายแดนลาว, ซึ่งไม่มีทางทำได้เพราะต้องวางกำลังทหารจำนวนมากตามเมืองต่างๆ ของลาว และต้องส่งกำลังบำรุงหน่วยต่างๆ นั้นทางอากาศจากฐานบินที่ฮานอยไปยังฮานอยและเวียงจันทน์ ดังนั้น, ทางเลือกเดียวที่เหลือคือ hedgehog ตามแบบฉบับของเขาที่ “แก้ปัญหาด้วยวิธีเรียบๆ ง่ายๆ” (Simply is the best)

ชะตากรรมที่พลิกผันคือ สุดท้ายคณะกรรมาธิการป้องกันประเทศของฝรั่งเศส (French National Defense Committee) ออกมาพูดว่า ภาระของนาวาร์ไม่ได้รวมไปถึงการป้องกันลาวด้วย การตัดสินใจของคณะกรรมาธิการเรื่องนี้กว่านาวาร์จะทราบเวลาก็ล่วงเลยไปถึงวันที่ ๔ ธันวาคม สองสัปดาห์หลังปฏิบัติการเริ่มไปแล้ว

การสถาปนา “หัวหาดอากาศ” วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๑๙๕๓ เวลา ๑๐๓๕, ทหารพลร่มฝรั่งเศส ๙,๐๐๐ นาย ใช้เวลากว่า ๓ วัน กระโดดร่มลงสู่พื้นที่ส่งลง ๓ จุด คือ : Natasha, ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเดียนเบียนฟู; Octavie, ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเดียนเบียนฟู; และ Simone, ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเดียนเบียนฟู ปฏิบัติการ Castor ที่เดียนเบียนฟู เริ่มแล้ว

(ผังการวางตำแหน่งฐานต่างๆ ของค่ายเดียนเบียนฟู ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ตอนคือ ตอนเหนือ, ตอนกลาง และตอนใต้)

ที่เดียนเบียนฟู, ฝ่ายเวียดมินห์มีกองบัญชาการกรมทหารราบที่ ๑๔๘ (148th Independent Infantry Regiment) ซึ่งเป็นหน่วยรบชั้นนำของเวียดมินห์ ถือว่าเป็นหน่วยทหารที่พร้อมรบที่สุด แต่ขณะนั้นกำลังพล ๓ กองพันจากที่มีทั้งหมด ๔ กองพันไม่อยู่ในบริเวณนั้น การต่อต้านของฝ่ายเวียดมินห์จึงมีไม่มากนัก ปฏิบัติการของฝรั่งเศสเป็นไปอย่างราบรื่น นับแต่วันแรกของปฏิบัติการจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน มีทหารพลร่มฝรั่งเศส ๖ กองพัน โดดร่มลงมาและสถาปนาที่มั่น



ในระหว่างที่พลร่มฝรั่งเศสกำลังสถาปนาที่มั่นในเดียนเบียนฟูนั้น นายพล เกี๊ยบ เริ่มวางแผนตอบโต้ทันที เกี๊ยบตั้งใจจะโจมตีกำลังของฝรั่งเศส แต่ยังไม่มีใครทราบแน่นอนว่าการโจมตีนั้นจะเกิดขึ้นที่ไหน-เมื่อไร แต่หากการโจมตีเกิดขึ้น...ฝรั่งเศสจะต้องถอนกำลังออกจากจังหวัดไลเชา (Lai Chau Province)



วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน, นายพล เกี๊ยบ สั่งการให้กรมทหารราบที่ ๑๔๘ และกองพลทหารราบที่ ๓๑๖ เข้าโจมตีไลเชา และให้กองพลที่ ๓๐๘, ๓๑๒ และกองพลที่ ๓๕๑ เข้าโจมตีมาจากเวียดบัค (Viet Bac)

ต้นเดือนธันวาคม ทหารฝรั่งเศส, ภายใต้การบัญชาการของพันเอก เดอ คาสตรีส์ (Colonel Christian de Castries) เริ่มลงหลักปักฐานและเสริมความมั่นคงของที่มั่นสำคัญต่างๆ บริเวณกลางค่ายเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการ มีฐาน "Huguette"อยู่ทางตะวันตก, "Claudine"อยู่ทางใต้, และ"Dominique"อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ฐานอื่นๆ คือ "Anne-Marie"อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ, "Beatrice"อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ, "Gabrielle"อยู่ทางเหนือ และ"Isabelle"อยู่ห่างออกไปทางใต้ ๔ ไมล์ ทำหน้าที่คุ้มกันทางวิ่งสำรอง



การที่นายพล นาวาร์ เลือกพันเอก เดอ คาสตรีส์ มาบัญชาการที่เดียนเบียนฟู เป็นความผิดพลาด เดอ คาสตรีส์ เป็นนายทหารม้า ที่มีบุคลิกเหมือนทหารม้าในยุคศตวรรษที่ ๑๘ นาวาร์ มองว่าการรบที่เดียนเบียนฟูจะเป็นการรบสมัยใหม่ (การรบแบบใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็ว- mobile battle) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเวลาต่อมาคือ การรบที่เดียนเบียนฟู เป็นสงครามสนามเพลาะแบบเดียวกับยุคสงครามโลกครั้งที่ ๑ คือ การใช้ยุทธวิธีตั้งรับในสนามเพลาะ ซึ่งไม่ใช่แบบที่เดอ คาสตรีส์ถนัด

เมื่อกองพลที่ ๓๑๖ ของเวียดมินห์เดินทางมาถึงเดียนเบียนฟู นายพล โคยี สั่งการให้หน่วยทหารในไลเชา ถอนกำลังไปยังเดียนเบียนฟู นายพล เกี๊ยบ คาดการณ์ไว้แล้วว่า ฝรั่งเศสต้องพยายามเสริมกำลังที่เดียนเบียนฟูจึงส่งกำลังไปซุ่มโจมตี กองทหารฝรั่งเศส ๒,๑๐๐ คน ออกจากไลเชาในวันที่ ๙ ธันวาคม ถูกเวียดมินห์ซุ่มโจมตีกลางทาง หนีตายรอดมาถึงเดียนเบียนฟู ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม เพียง ๑๘๕ คน ที่เหลือเสียชีวิต-ถูกจับ หรือหนีทหาร ตอนนี้ทหารเวียดมินห์ล้อมเดียนเบียนฟูไว้แล้ว

กำลังพลในเดียนเบียนฟูขณะนี้ฝ่ายฝรั่งเศสมีทหาร ๑๐,๘๐๐ นาย, และกองหนุนรวมแล้วเกือบ ๑๖,๐๐๐ นาย สนับสนุนด้วยอาวุธหนักมีปืนใหญ่และรถถังเบา M-24 ๑๐ คัน และยังมีเครื่องบินเตรียมพร้อมโจมตีสนับสนุนอีกเป็นจำนวนมาก ฝรั่งเศสวางกำลังป้องกันที่ลุ่มที่รายล้อมไปด้วยหุบเขาที่ปกคลุมด้วยป่าทึบ ฝรั่งเศสใช้กำลังหลายหน่วยสนธิกำลัง ประกอบด้วยหน่วยเฉพาะกิจ (จากหน่วยพลร่มและหน่วยปืนใหญ่), กองทหารต่างด้าว (Foreign Legionaires), กองทหารอัลจีเรีย และกองทหารมอร๊อคโค (Algerian and Moroccan tirailleurs), และกองทหารประจำถิ่นที่เกณฑ์มาจากประชาชนในท้องถิ่นในอินโดจีน


(ในภาพ - มุมขวา่บน, นายพล กิลเลส์ ผบ.พลร่ม ที่โดดลงมายึดพื้นที่ในวันแรกของยุทธการ Castor; บนกลาง, ร่มกองระเกะระกะทั่วพื้นที่ส่งลง; บนซ้าย, ชาวเขาในพื้นที่มาเก็บร่ม; ล่างซ้าย, รถบูโดเซอร์ ส่งทางอากาศเช่นกัน และลงถึงพื้นเรียบร้อยดังภาพล่างขวา)


(ภาพซ้าย - ค.๑๒๐ อาวุธหนักชนิดหนึ่งของค่าย นอกจากนี้ยังมีปืนใหญ่ ๑๐๕ มม.และ ๑๕๕ มม.อีกด้วย, กลาง - พันเอก เดอ คัสตรีส์ ถ่ายหน้าบังเกอร์ของเขา, ขวา ภาพถ่ายทางอากาศของค่ายเดียนเบียนฟู เมื่อ พ.ย.๑๙๕๓ ด้านล่างตรงกลางจะเห็นบล.C-47 ๓ เครื่องจอดอยู่ มุมบนซ้ายของภาพเป็นฐาน Eliane 2)

ทางด้านเวียดมินห์นั้นได้เคลื่อนกำลังรวมแล้วถึง ๕๐,๐๐๐ นาย เข้าประจำบนภูเขารอบๆ ที่ลุ่มของเดียนเบียนฟู (รวม ๕ กองพลทหารราบ รวมทั้งกองพลอาวุธหนักที่ ๓๕๑ ที่มีทั้งปืนใหญ่และปืนต่อสู้อากาศยาน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าปืนใหญ่ของฝรั่งเศส ๔ ต่อ ๑ ปืนดังกล่าวถูกซ่อนพรางอย่างดี และนานๆ จะยิงสักทีเพื่อลองศูนย์ ทำให้ฝรั่งเศสคิดว่า เวียดมินห์ย้ายที่ตั้งปืน) กว่าฝรั่งเศสจะรู้ว่าถูกปืนใหญ่ข้าศึกจำนวนมากปิดล้อมก็เมื่อเวียดมินห์เปิดฉากยิงถล่มครั้งแรกในวันที่ ๓๑ มกราคม ๑๙๕๔ หน่วยลาดตระเวนของฝรั่งเศสพยายามจะเข้าตีที่ตั้งปืนใหญ่ของเวียดมินห์แต่ถูกเวียดมินห์ตอบโต้กลับมาทุกครั้ง ถึงเวลานี้ฝรั่งเศสรู้ตัวแล้วว่ากำลังถูกปิดล้อม


(อธิบายภาพ) เป็นแสดงให้เห็นการวางตำแหน่งระดับกองร้อย จะเห็นคูเหลดเชื่อมระหว่างจุดต่างๆ โดยเฉพาะตามแนวป้องกันจะขุดขนานกัน ๒ ชั้น: จุด B เป็นรังปืนกลม, จุด C เป็นบังเกอร์บก.ร้อย, จุด P เป็นบังเกอร์ ผบ.หมวด, จุด HQ เป็นบังเกอร์ บก.พัน, จุด A เป็นบังเกอร์ บก.พัน สำรองและเป็นที่พักของนายทหารด้วย, จุด MO เป็นบังเกอร์พยาบาลสนาม, จุด S เป็นบังเกอร์พลวิทยุ และจุด M เป็นที่ตั้งเครื่องยิงลูกระเบิด



การรบชิงฐาน Beatrice

การรบเพื่อชิงฐาน Beatrice เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑๗๐๐ ของวันที่ ๑๓ มีนาคม เวียดมินห์เปิดฉากการรบด้วยการระดมยิงปืนใหญ่และอาวุธหนักถล่มฝรั่งเศส แผนปฏิบัติบุกของเวียดมินห์ถูกวางไว้อย่างดี เวียดมินห์เริ่มยิงถล่มด้วยปืนใหญ่ก่อนสิ้นแสงอาทิตย์ คืนนี้เป็นคืนข้างขึ้น ทหารราบสามารถเข้าตีโดยใช้แสงจันทร์ กำลังที่ป้องกันฐาน Beatrice ได้แก่กองทหารต่างด้าวหนึ่งกองพัน เวลา ๑๘๑๕ หลังจากเวียดมินห์ยิงถล่มฐานของฝรั่งเศสมาได้ชั่วโมงกว่าๆ กระสุนปืนใหญ่นัดหนึ่งก็ถูก บก.พัน พังพินาศ พันโท Pegot ผบ.พัน และนายทหารคนสนิทเสียชีวิตคาบก.พัน หลังจากนั้นไม่นาน พันเอก Gaucher ผบ.กองกำลังที่รักษาการทางเข้าด้านเหนือก็เสียชีวิตจากปืนใหญ่ข้าศึกไปอีกคน ตกค่ำกองพลที่ ๓๑๒ ของเวียดมินห์ก็บุกเข้าตีฐาน Beatrice กองกำลังของฝรั่งเศสที่สะบักสะบอมจากการเพิ่งถูกปืนใหญ่เวียดมินห์ถล่มต้องพบกับยุทธวิธีคลื่นมนุษย์กระหน่ำเข้ามา หลังสู้รบกันอย่างดุเดือดกว่า ๔ ชั่วโมง, ฐาน Beatrice ก็ถูกตีแตกหลังเที่ยงคืนเล็กน้อย ทหารต่างด้าวของฝรั่งเศสเกือบ ๕๐๐ นายเสียชีวิต กองพลที่ ๓๑๒ ของเวียดมินห์ เสียทหารไปประมาณ ๖๐๐ นาย บาดเจ็บอีก ๑,๒๐๐ นาย ฝรั่งเศสพยายามตีโต้เพื่อยึดฐาน Beatrice คืนในเช้าวันรุ่งขึ้น แต่ก็ถูกปืนใหญ่ของเวียดมินห์ยิงถล่มจนต้องถอนกำลังกลับออกมา การสูญเสียฐาน Beatrice สร้างขวัญกำลังใจให้กับทหารเวียดมินห์อย่างมาก

ฝรั่งเศสยังไม่เชื่อว่า ปืนใหญ่ของเวียดมินห์ใช้วิธียิงตรง (คือ พลประจำปืนใหญ่แต่ละกระบอกจะทำการเล็งตรงไปยังเป้าหมายเลย, เพราะตามปกติ ปืนใหญ่จะใช้วิธีเล็งจำลองที่ต้องมีผู้ตรวจการณ์หน้าเป็นผู้ชี้เป้า-ปรับการยิง และรายงานผลการยิง ซึ่งผู้ตรวจการณ์หน้าจะต้องมีประสบการณ์และต้องมีการสื่อสารที่ดี ฝรั่งเศสเชื่อว่าเวียดมินห์ยังไม่มีขีดความสามารถถึงขนาดนี้) นาวาร์เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “จากคำแนะนำของที่ปรึกษาทางทหารจีน, ผู้บัญชาการของเวียดมินห์ใช้วิธีการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ ปืนใหญ่แต่ละกระบอกจะวางในหลุมที่ขุดขึ้นมาโดยเฉพาะ หลุมปืนเหล่านี้มีมากมาย พันเอก พิโรท์ (Colonel Piroth) ผู้บังคับการหน่วยปืนใหญ่ ถึงกับคลุ้มคลั่งที่ไม่สามารถจัดการยิงตอบโต้ปืนใหญ่ของเวียดมินห์ที่ถูกซ่อนพรางไว้อย่างดีได้ เขาเข้าไปในที่พักแล้วก็ฆ่าตัวตายด้วยระเบิดมือ ร่างของเขาถูกฝังอย่างเป็นความลับที่สุดเพราะหากเรื่องนี้แพร่งพรายออกไปทหารจะเสียขวัญ



ฐาน Gabrielle

เช้าวันที่ ๑๔ มีนาคม, ปืนใหญ่ของเวียดมินห์ระดมยิงที่มั่นของฝรั่งเศสอยู่ ๔ ชั่วโมง ทำให้เครื่องบินที่บินมาส่งเสบียงไม่สามารถลงจอดได้ ต่อไปการส่งเสบียงอาหารยุทโธปกรณ์ทุกอย่างต้องทำโดยการทิ้งร่ม

คืนนั้น (๑๔ มีนาคม), เวียดมินห์เข้าโจมตีฐาน Gabrielle ที่มีทหารอัลจีเรียหนึ่งกองพันประจำอยู่ การโจมตีฐาน Gabrielle เริ่มขึ้นเหมือนการโจมตีฐาน Beatrice โดยฝ่ายเวียดมินห์ใช้ปืนใหญ่ระดมยิงตั้งแต่ ๑๗๐๐ พอถึงเวลา ๒๐๐๐ ทหารเวียดมินห์ ๒ กรม จากกองพลที่ ๓๐๘ ก็เข้าโจมตี การสู้รบอย่างดุเดือดดำเนินมาจนถึง ๐๔๐๐ ของวันรุ่งขึ้น กระสุนปืนใหญ่นัดหนึ่งของเวียดมินห์ถูกบก.พัน ทำให้ผบ.พัน และทหารส่วนใหญ่ที่อยู่ในนั้นบาดเจ็บ เวียดมินห์ยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ได้และวางกำลังปิดล้อมอย่างหนาแน่น



พันเอก คาสตรีส์ สั่งการให้โจมตีเพื่อยึดฐาน Gabrielle คืน ทหารฝรั่งเศสภายใต้การนำของ พันเอก ปิแอร์ ลังเลส์ (Colonel Pierre Langlais) ร่วมกับกองพันทหารพลร่มที่ ๕ ของเวียดนาม (5th Vietnamese Parachute battalion) ที่เพิ่งโดดร่มลงมาในตอนกลางวันวันนั้นเองถูกส่งไปเข้าตีตอบโต้ทั้งหมดถูกจัดการไม่เหลือ เวียดมินห์ระดมยิงปืนใหญ่เข้าสกัดการรุกของฝ่ายฝรั่งเศสได้รับความเสียหายอย่างหนักกำลังบางส่วนสามารถรุกฝ่าวงล้อมของเวียดมินห์ไปถึงฐาน Gabrielle ได้ แต่ก็เหมือนบุกฝ่าเข้าไปในนรก ปืนใหญ่ของเวียดมินห์ตามยิงถล่มจนฝ่ายฝรั่งเศสได้รับเสียหายอย่างหนัก ทหารอัลจีเรียบนฐาน Gabrielle ตั้งมั่นต่อต้านการรุกของเวียดมินห์อยู่ ได้ถึง ๐๘๐๐ วันรุ่งขึ้น ก็ต้องถอนตัว เวียดมินห์ยึดฐาน Gabrielle ได้สำเร็จ การรบครั้งนี้ฝรั่งเศสเสียทหารไปราว ๑,๐๐๐ นาย ส่วนเวียดมินห์เสียทหารไป ๑,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ นาย

ฐาน Anne Marie

ฐาน Ann Marie มีทหารชนเผ่าไทที่ภักดีต่อฝรั่งเศสประจำอยู่ เนื่องจากเป็นชนท้องถิ่น นายพล เกี๊ยบ จึงไม่ใช้วิธีการแตกหัก แต่ใช้วิธีเกลี้ยกล่อมให้ทหารชนเผ่านี้ยินยอมแต่โดยดี โดยบอกว่าการสู้รบนี้ไม่ใช่ของพวกเขา การที่ฐาน Beatrice และ Gabrielle แตก ทำให้ขวัญและกำลังใจของทหารที่ฐานนี้เสียไปหมด เกี๊ยบทำสงครามจิตวิทยาอยู่ ๑ สัปดาห์ ท่ามกลางหมอกที่ลงจัดในเช้าวันที่ ๑๗ มีนาคม ทหารชนเผ่านี้ส่วนใหญ่ก็ลอบถอนตัวทิ้งฐานไป ทหารฝรั่งเศสและทหารชนเผ่าไทที่เหลือจึงจำต้องถอนกำลังออกมา



ความสงบก่อนพายุใหญ่

การสู้รบยุติลงชั่วคราวในระหว่างวันที่ ๑๗ – ๓๐ มีนาคม ตอนนี้เวียดมินห์ปิดล้อมทหารฝรั่งเศสในพื้นที่ตอนกลางไว้ทั้งหมด (ฐานทั้ง ๔ ฐานคือ Hugette, Dominique, Claudine, และ Elaine) ไม่สามารถติดต่อกับฐาน Isabelle ที่อยู่ทางใต้ได้

ในเวลาเดียวกัน, ฝรั่งเศสก็กำลังเผชิญปัญหาวิกฤติในการบังคับบัญชา “การปิดล้อมสร้างความเจ็บปวดให้แก่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ – รวมถึงนายพล โคยี ซึ่งมีกองบัญชาการอยู่ที่ฮานอย – เดอ คัสตรีส์ รู้แล้วแผนการป้องกันเดียนเบียนฟูล้มเหลว ดังนั้นเมื่อฐานด้านเหนือถูกยึด, เดอ คัสตรีส์ ปลีกตัวอยู่แต่ในบังเกอร์ ไม่ยอมออกมาบัญชาการอีกเลย นายพล โคยี พยายามบินไปเดียนเบียนฟู เพื่อเข้าบัญชาการด้วยตนเองในวันที่ ๑๗ มีนาคม, แต่เครื่องบินของเขาถูกปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์ยิงสกัดจนไม่สามารถนำเครื่องลงได้ เมื่อเครื่องบินลงจอดไม่ได้ นายพล โคยี ตัดสินใจจะกระโดดร่มลงไป แต่ถูกฝ่ายเสนาธิการพูดห้ามปรามไว้ เพราะคงไม่ดีแน่หากเวียดมินห์จับตัวนายพลฝรั่งเศสเป็นเชลยได้


(ในภาพ - พลโท เรอเน่ โคยี ผบ.กำลังภาคพื้นดิน ประจำตังเกี๋ย ขณะตรวจพลทหารรับจ้างมอร๊อคโค, ภาพล่าง รถถัง M-24 Chaffee ที่มีบทบาทมากในสงครามอินโดจีนช่วงแรก)

คาสตรีส์ ปลีกตัวอยู่ในบังเกอร์ของเขา กำลังมีอาการรับไม่ได้กับการที่จะให้ใครมาบังคับบัญชาแทน จนกระทั่งวันที่ ๒๔ มีนาคม, พันเอก Langlais และนายทหารพลร่มคนอื่นๆ พร้อมอาวุธมาขอพบคาสตรีส์ ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันตรงๆ Langlais ขอให้คาสตรีส์สละตำแหน่งและมอบอำนาจการบังคับบัญชาให้แก่เขา คาสตรีส์ยอมโดยดี แต่มีเงื่อนไขว่า ขอดูแลในบางส่วนด้วย

ฝรั่งเศสพยายามส่งกำลังบำรุงทางอากาศอีกแต่ถูกปืนกลต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์ที่ตั้งรายล้อมอยู่ใกล้พื้นที่ส่งลงยิงเครื่องบินจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก วันที่ ๒๗ มีนาคม, ผบ.กองบินลำเลียงที่ฮานอย (Hanoi air transport commander) นาวาอากาศเอก นิโคท์ สั่งให้เครื่องบินลำเลียงทิ้งเสบียงทางอากาศในระดับ ๖,๕๐๐ ฟุตขึ้นไป เพื่อลดอันตรายจากปืนกล ทางด้านล่าง, คาสตรีส์ สั่งให้กำลังภาคพื้นดินเข้าโจมตีรังปืนกลของเวียดมินห์ซึ่งอยู่ห่างเดียนเบียนฟูไปทางตะวันตก ๒ ไมล์ ผลการโจมตีเป็นไปอย่างเหลือเชื่อ, ทุกอย่างเป็นไปตามแผน, ทหารเวียดมินห์เสียชีวิต ๓๕๐ นาย ทำลายปืนกลต่อสู้อากาศยานได้ ๑๗ กระบอก ฝรั่งเศสเสียทหารไปเพียง ๒๐ นายเท่านั้น

การโจมตีในวันที่ ๓๐ มีนาคม – ๕ เมษายน

การรบครั้งต่อไปเกิดขึ้นเมื่อทหารเวียดมินห์จำนวนมากเข้าโจมตีฐานในพื้นที่ตอนกลางของฝรั่งเศส คือ ฐาน Eliane และฐาน Dominique ที่อยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำ Yum ทั้งสองฐานอยู่ในความดูแลของทหารกองกำลังผสมจากหน่วยทหารต่างด้าว, ทหารเวียดนาม, ทหารอัฟริกัน และทหารจากชนเผ่าไท รวม ๕ กองพัน ที่ไม่สู้จะเข้มแข็งนัก นายพล เกี๊ยบ วางแผนเข้าโจมตีแบบเดียวกับที่ฐาน Beatrice และฐาน Gabrielle



วันที่ ๓๐ มีนาคม, หลังใช้อาวุธหนักถล่มตั้งแต่เวลา ๑๗๐๐ พอถึง ๑๙๐๐, กองพล ๓๑๒ ของเวียดมินห์ ก็บุกเข้ายึดฐาน Dominique 1 และ 2 ได้ และรุกเข้าตีฐาน Dominique 3 ซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้ายที่ตั้งอยู่ระหว่างกำลังของเวียดมินห์กับกองบัญชาการค่ายเดียนเบียนฟูของฝรั่งเศส ตอนนี้ปืนใหญ่วิถีโค้ง ๑๐๕ มม. ของกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๔ (French 4th colonial artillery regiment) สามารถยิงวิถีราบเล็งตรงไปยังทหารเวียดมินห์ที่กำลังเข้าโจมตีทหารฝรั่งเศสที่ประจำปืนกลต่อสู้อากาศยานใกล้กับสนามบิน ปืนกลต่อสู้อากาศยานของฝรั่งเศสถูกนำมาใช้ยิงป้องกันตัวเพื่อสกัดการบุกเวียดมินห์

เวียดมินห์ประสบความสำเร็จในการเข้าตีทุกจุด กองพล ๓๑๖ ยึดฐาน Elaine 1 ที่มีทหารโมร๊อคโคป้องกันอยู่ได้ พอถึงเที่ยงคืนก็ยึดฐาน Elaine 2 ได้ครึ่งหนึ่ง อีกด้าน, กองพล ๓๐๘ เข้าตีฐาน Huguette 7 เกือบจะแตกแล้ว แต่ถูกทหารฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งเข้าเสริมกำลังอุดตรงช่องว่างได้ทัน

ย่างเข้าวันใหม่ (๓๑ มีนาคม) หลังเที่ยงคืน ฝรั่งเศสรวบรวมกำลังเข้าตีโต้เพื่อยึดฐาน Elaine 2 คืน และสามารถยึดพื้นที่คืนได้ครึ่งหนึ่ง Langlais สั่งการให้เข้าตีฐาน Dominique 2 และ Eliane 1 คืนให้ได้ในตอนบ่าย ฝรั่งเศสระดมทหารทุกคนที่ยังพอจะรบได้ การตีตอบโต้ประสบความสำเร็จ ทหารฝรั่งเศสยึดฐานทั้งสองคืนมาได้ แต่ก็ถูกเวียดมินห์ยึดคืนกลับไปอีกเพราะทหารฝรั่งเศสหมดแรงและขาดกำลังเสริม ฐาน Isabelle ที่ยังไม่ถูกเวียดมินห์เข้าตีได้พยายามส่งกำลังมาช่วย แต่ถูกซุ่มโจมตีกลางทางจนต้องถอนตัวกลับฐานไป

ช่วงค่ำของคืนวันที่ ๓๑, Langlais สั่งการให้พันโท Marcel Bigeard ผบ. ฐาน Eliane ให้ถอยข้ามแม่น้ำกลับมา (ฐาน Eliane กับบก.ค่าย มีแม่น้ำ Yum อยู่ระหว่างกลาง) Bigeard ไม่สนใจ, เขาตอบกลับไปว่า “ตราบใดที่ในฐาน Elaine ยังมีคนมีชีวิตอยู่ ผมจะไม่ทิ้งฐาน, หรือว่า เดียนเบียนฟูจะละลาย” คืนวันที่ ๓๑, กองพล ๓๑๖ เข้าตีฐาน Elaine 2 ราวกับจะพยายามเหยียบฝรั่งเศสให้จมดิน ฝรั่งเศสส่งรถถังหลายคันเข้ามาช่วย ทำให้เวียดมินห์ต้องถอยกลับและยังทำให้การโจมตีฐาน Elaine 4 ของ เวียดมินห์ต้องล้มเหลวไปด้วย คืนนั้นเวียดมินห์ยึดฐาน Huguette 7 ได้ชั่วคราวก่อนที่จะถูกฝรั่งเศสชิงคืนไปในช่วงรุ่งสางของวันที่ ๑ เมษายน

การรบแบบผลัดกันรุกผลัดกันรับดำเนินไปอย่างต่อเนื่องหลายคืน เวียดมินห์เข้าตีฐาน Elaine 2 อีก แต่ก็ยึดได้ชั่วครู่ก่อนถูกฝรั่งเศสยึดคืนไป ทั้งสองฝ่ายผลัดกันรุกผลัดกันถอยซ้ำแล้วซ้ำอีก ฝรั่งเศสพยายามส่งกำลังหนุนทางอากาศแต่ถูกสกัดโดยปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์ มีเครื่องบินลำเลียงเพียงเครื่องเดียวเท่านั้นที่ฝ่าห่ากระสุนปืนต่อสู้อากาศยานของเวียดมินห์เข้ามาได้ พลร่มกองหนุนที่มาถึงสูญเสียอย่างหนักครึ่งหนึ่งเสียชีวิตอีกครึ่งหนึ่งที่ยังรอดตายมาได้

สงครามสนามเพลาะ

วันที่ ๕ เมษายน, หลังคืนแห่งการสู้รบอันยาวนาน เครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดและปืนใหญ่ของฝรั่งเศสถล่มทหารเวียดมินห์ที่อยู่บนพื้นที่เปิดพินาศไปหนึ่งกรม นายพล เกี๊ยบ ตัดสินใจเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ โดยยังดำรงเป้าหมายเดิมที่ต้องการขับไล่ทหารฝรั่งเศสที่วางแนวป้องกันทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำออกไป เขาสั่งการให้ทหารขุดสนามเพลาะเข้าประชิดและก่อกวนให้ทหารฝรั่งเศสอ่อนแอลง


(ในภาพ ตรงลูกศรสีเหลือง คือแนวสนามเพลาะที่เวียดมินห์ขุดเข้าประชิดฐานของฝรั่งเศส)

วันที่ ๑๐, ฝรั่งเศสพยายามยึดฐาน Elaine 1 คืน หลังจากถูกเวียดมินห์ยึดไปได้ ๑๑ วันก่อนหน้านั้น เริ่มต้นโดยส่งกำลังไปยังฐาน Elaine 4 ที่เป็นจุดรวมพล เมื่อถึงรุ่งสางการโจมตีเริ่มขึ้น ฝรั่งเศสเปิดฉากการรุกด้วยการยิงถล่มของปืนใหญ่ จากนั้นกองหน้านำโดย Bigeard รุกเข้าไปอย่างรวดเร็วเจาะทะลวงแนวรับของเวียดมินห์โดยให้กองกำลังขนาดใหญ่ตามมากวาดล้างที่หลัง (การรุกแบบ Infiltration tactics นี้ เคยถูกนำมาใช้อย่างได้ผลโดย Oskar von Hutier นายพลเยอรมันในสงครามโลกครั้งแรก โดยใช้กำลังขนาดเล็กเข้าตีทะลุทะลวงแนวรับของข้าศึกอย่างรวดเร็ว และใช้กองกำลังขนาดใหญ่ตามมากวาดล้างภายหลัง) เวียดมินห์พยายามเข้าตีเพื่อยึดฐาน Elaine 1 คืน แต่ในที่สุด ฝรั่งเศสสามารถยึดฐานนี้ได้ในเช้าวันต่อมา เวียดมินห์พยายามเข้าตีแย่งชิงฐานนี้อีกในวันที่ ๑๒ เมษายน แต่ถูกฝรั่งเศสยันกลับมา



“ตอนนี้ ขวัญกำลังใจของทหารเวียดมินห์เสียไป ฝรั่งเศสสามารถยึดรายงานวิทยุที่สั่งให้หน่วยนั้นๆ ถอนตัว ทหารเวียดมินห์ที่ถูกจับได้ให้การว่า เขาถูกสั่งให้รุกคืบหน้าไปหรือไม่ก็อาจจะถูกนายทหารที่อยู่ข้างหลังยิงเอาหากถอยหนี” ฝ่ายเวียดมินห์สูญเสียอย่างหนัก (เสียชีวิต ๖,๐๐๐ คน, บาดเจ็บ ๘,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ คน และถูกจับเป็นเชลย ๒,๕๐๐ คน) เวียดมินห์ยังขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ “ไม่มีอะไรทำลายขวัญและกำลังใจของทหารเท่ากับรู้ว่า หากบาดเจ็บก็จะไม่มีใครเหลียวแล” เพื่อแก้ปัญหานี้, นายพล เกี๊ยบ เรียกระดมกองหนุนที่ยังสดใหม่มาจากลาว

ขณะที่มีการสู้รบที่ฐาน Elaine 1, ทางด้านอื่น, เวียดมินห์ได้ขุดสนามเพลาะปิดล้อมฐาน Huguette 1 และ 6 วันที่ ๑๑ เมษายน, ทหารที่ฐาน Huguette 1 ด้วยการสนับสนุนการยิงอาวุธหนักจากฐาน Claudine ได้เข้าตีเพื่อช่วยเปิดทางส่งเสบียงอาหารและกระสุนให้กับฐาน Huguette 6 ฝรั่งเศสพยายามเข้าโจมตีอีกในคืนวันที่ ๑๔-๑๕ และคืนวันที่ ๑๖-๑๗ ทำให้สามารถส่งเสบียงอาหารบางส่วนให้กับฐาน Huguette 6 ได้ แต่ฝรั่งเศสก็ประสบความสูญเสียอย่างหนักจนพันเอก Langlais ต้องตัดสินใจทิ้งฐาน Huguette 6

วันที่ ๑๘ เมษายน, ทหารบนฐาน Huguette 6 พยายามตีฝ่าวงล้อมออกมา มีทหารจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่รอดมาถึงแนวของฝรั่งเศส ทางด้านเวียดมินห์พยายามลองตีฐาน Huguette 1 อีกครั้ง และสามารถยึดได้ในเช้าวันที่ ๒๒ เมษายน ทำให้พื้นที่ส่งลงแทบไม่เหลือในขณะที่มีความต้องการเสบียงอาหารเพิ่มเติมอย่างมาก ฝรั่งเศสต้องโจมตีเพื่อยึดฐาน Huguette 1 ให้ได้ในวันต่อมา

ฐาน Isabelle

Isabelle ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวทางใต้สุด เป็นฐานเดียวที่มีการสู้รบเพียงประปรายเท่านั้นจนกระทั่งวันที่ ๓๐ มีนาคม เวียดมินห์ที่พยายามโดดเดี่ยวฐานแห่งนี้และซุ่มโจมตีกำลังที่จะขึ้นไปช่วยฐานอื่นๆ ทางเหนือ จากนั้นเวียดมินห์ก็ถล่มฐานนี้ด้วยปืนใหญ่และเริ่มขุดสนามเพลาะปิดล้อมฐาน Isabelle เช่นเดียวกับฐานอื่นๆ ที่อยู่ทางตอนกลาง ใกล้สิ้นเดือนเมษายน ฐาน Isabelle เริ่มขาดแคลนน้ำและกระสุนก็ร่อยหรอเต็มที

การรบครั้งสุดท้าย

เวียดมินห์ระดมกำลังเข้าตีครั้งใหญ่ในคืนวันที่ ๑ พฤษภาคม จนสามารถยึดฐาน Elaine 1, Dominque 3, และ Huguette 5 ฝรั่งเศสพยายามต้านทานการบุกที่ฐาน Elaine 2 วันที่ ๖ พฤษภาคม, เวียดมินห์ก็ระดมกำลังโจมตีฐาน Elaine 2 อีกครั้ง คราวนี้เป็นครั้งแรกที่เวียดมินห์ใช้จรวดคัทยูช่า (Katyusha) ถล่มฝ่ายฝรั่งเศส ฝรั่งเศสระดมยิงปืนใหญ่สกัดกั้นคลื่นการรุกของฝ่ายเวียดมินห์สำเร็จ อีกหลายชั่วโมงต่อมาเวียดมินห์เข้าตีอีก หลังการสู้รบอย่างดุเดือดหลายชั่วโมง ฐาน Elaine 2 ก็แตก

นายพล เกี๊ยบ สั่งให้ทุกหน่วยเข้าโจมตีหน่วยทหารของฝรั่งเศสที่ยังเหลืออยู่, การสู้รบอย่างดุเดือดดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องจนถึงค่ำของวันที่ ๗ พฤษภาคม ฐานของฝรั่งเศสทุกฐานในตอนกลางของค่ายก็ถูกเวียดมินห์ยึดได้สำเร็จ ทางด้านทหารที่ประจำบนฐาน Isabelle ได้พยายามตีฝ่าวงล้อมออกมาเช่นกัน กำลังส่วนใหญ่ของฐานแห่งนี้ไม่สามารถรอดออกจากหุบเขาได้ มีเพียงทหารราว ๗๐ คนเท่านั้น (จาก ๑,๗๐๐ คน) ที่เล็ดรอดหนีไปถึงลาวได้สำเร็จ



เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลง ฝรั่งเศสหวังใช้การเจรจาสันติภาพที่เจนีวาเป็นทางรอด โดยการประชุมดังกล่าวเริ่มขึ้นในวันที่ ๒๖ เมษายน แต่ที่มั่นสุดท้ายของฝรั่งเศสถูกเวียดมินห์โจมตีแตกในวันที่ ๖ พฤษภาคม หลังที่มั่นสุดท้ายถูกถล่มด้วยจรวดคัทยูซาของรัสเซียจนต้องยอมแพ้ในที่สุด

หลังการรบ

วันที่ ๘ พฤษภาคม, เวียดมินห์จับเชลยศึกได้ ๑๑,๗๒๑ คน, ในจำนวนนี้เป็นทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ๔,๔๓๖ คน ถือเป็นจำนวนเชลยศึกที่เวียดมินห์จับได้มากที่สุดในคราวเดียว หรือเท่ากับหนึ่งในสามของเชลยที่ถูกจับได้ตั้งแต่เริ่มสงคราม บรรดาเชลยถูกแยกเป็นกลุ่มๆ จากนั้นก็เดินเท้ากว่า ๒๕๐ ไมล์ไปยังค่ายเชลยทางตอนเหนือและทางตะวันออก เชลยนับร้อยคนเสียชีวิตระหว่างเดินทาง ผู้บาดเจ็บถือเป็นอันดับแรกที่ต้องดูแลจนกว่าเจ้าหน้าที่กาชาดจะมาถึง, ผู้บาดเจ็บ ๘๓๘ คน ถูกเคลื่อนย้ายไปทันที ที่เหลือได้รับการปฐมพยาบาลเท่าที่จะทำได้และเชลยที่เหลือถูกกักตัวไว้



สภาพในค่ายเชลยเลวร้าย เชลยจากเดียนเบียนฟูหลายคนเป็นทหารต่างด้าวเชื้อสายเยอรมัน เชลยต้องอยู่กันอย่างแออัด, อดอยาก และถูกทารุณ ทำให้เชลยจำนวนมากเสียชีวิต จากทั้งหมด ๑๐,๘๖๓ คน อีก ๔ เดือนต่อมาเหลือเพียง ๓,๒๙๐ คน

สรุป การรบครั้งนี้ฝรั่งเศสเสียทหารไป ๒,๒๐๐ คน จากกำลังทั้งหมด ๒๐,๐๐๐ คน ส่วนเวียดมินห์เสียทหารไป ๘,๐๐๐ คน บาดเจ็บอีก ๑๕,๐๐๐ คน จากทหารทั้งหมด ๑๐๐,๐๐๐ คน

ผลกระทบทางการเมือง

หลังชัยชนะของเวียดมินห์มีการเจรจาสงบศึกที่เจนีวา ปี ๑๙๕๔ ที่ประชุมตกลงแบ่งเวียดนามเป็นสองส่วนชั่วคราว เวียดนามเหนือเป็นของพวกคอมมิวนิสต์ และฝรั่งเศสยังครอบครองเวียดนามใต้ โดยจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี ๑๙๕๖ หลังฝรั่งเศสถอนตัว, สหรัฐฯ ได้เข้ามาสนับสนุนรัฐบาลเวียดนามใต้ซึ่งมีจักรพรรดิเบาได๋ เป็นประมุข และโงดินเดียม เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นศัตรูกัน มีการสังหารพวกชาตินิยมและพวกก่อการร้ายเกิดขึ้นทั้งในเวียดนามเหนือและใต้ ความขัดแย้งขยายตัวเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นสงครามเวียดนาม (สงครามอินโดจีนครั้งที่ ๒)

ความพ่ายแพ้ในอินโดจีนสร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ศักดิ์ศรีของฝรั่งเศสโดยเฉพาะในอาณานิคมแห่งอื่นๆ ที่ยังเหลืออยู่ ทหารที่สู้รบในเดียนเบียนฟูจำนวนมากถูกเกณฑ์ไปจากอาณานิคมใน อาฟริกาเหนือ สงครามกู้อิสรภาพของอัลจีเรียจึงเกิดขึ้นตามมาในปี ๑๙๕๔ นั่นเอง ตามมาด้วยการเรียกร้องอิสรภาพของมอร๊อคโคและตูนีเซียในปี ๑๙๕๖

การยุทธที่เคซาน

๑๔ ปีต่อมา ในสงครามเวียดนาม กองทัพเวียดนามเหนือ (ภายใต้การบัญชาการของนายพล เกี๊ยบ) พยายามสร้างประวัติศาสตร์อย่างที่เดียนเบียนฟูอีกครั้งในการยุทธที่เคซาน (Battle of Khe Sanh) แต่ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แตกต่างกัน ทำให้อเมริกันได้รับชัยชนะ เคซานอยู่ห่างจากจุดส่งกำลังบำรุงเพียง ๔๕ กิโลเมตร ในขณะที่เดียนเบียนฟูอยู่ห่างถึง ๒๐๐ กิโลเมตร ทหารอเมริกันตั้งมั่นในพื้นที่สูงและใช้อำนาจการยิงของปืนใหญ่อเมริกันเหนือกว่าเวียดนามเหนือมาก อเมริกันใช้ความได้เปรียบของปืนใหญ่ที่มีระยะยิงไกลกว่าซึ่งต่างจากสถานการณ์ของฝรั่งเศสในเดียนเบียนฟู ในช่วงเวลา ๓๐ วันที่เคซานถูกปิดล้อม, ทหารอเมริกันได้รับการสนับสนุนเสบียงอาหารยุทโธปกรณ์ทางอากาศถึง ๑๘,๐๐๐ ตัน ขณะที่ในช่วง ๑๖๗ วันของเดียนเบียนฟู ทหารฝรั่งเศสได้รับเสบียงจากการส่งทางอากาศเพียง ๔,๐๐๐ ตัน กองทัพอากาศอเมริกันทำการทิ้งระเบิดถึง ๑๑๔,๘๑๐ ตัน สกัดการรุกของเวียดนามเหนือที่เคซาน จำนวนของลูกระเบิดพอๆ กับที่ถล่มญี่ปุ่นในปี ๑๙๔๕ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

 

 

 

 

 

สรุป

จะ ว่าไปแล้วประเทศฝรั่งเศสหลังจากพ่ายแพ้ให้กับฮิตเลอร์แล้ว หลังสงครามยุติก็พยายามสร้างประเทศสร้างกองทัพขึ้นมาใหม่ รวมถึงกอบกู้ความอับอายในครั้งนั้นกลับคืนมาให้ได้ แต่ดูเหมือนยิ่งทำยิ่งล้มเหลว 555 อันนี้ว่าไปตามเนื้อผ้านะครับ เพราะปี 1954 แพ้ที่ เดียน เบียน ฟู ปี 1956 เสียคลองสุเอซให้กับอียิปต์ ปี 1960 ถอยออกจากสงครามในอัลจีเรีย แล้วนี่ปีที่แล้วเห็นทหารฝรั่งเศสในอัฟกานิสถานถูกกลุ่มตาลีบันซุ่มโจมตีละลายทั้งหมวด จากยอด 30 นาย ตายไป 10 ที่เหลือบาดเจ็บทั้งหมด แต่ใครคงไม่คิดไปท้ารบกับฝรั่งเศสเต็มตัวน่ะครับถ้าไม่ใช้ประเทศอย่างสหรัฐฯ หรือรัสเซีย เพราะเค้ามีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไฮเทค และมีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ดำผุดดำว่ายอยู่ตรงไหนในมหาสมุทรก็ ไม่รู้ เอาเป็นว่าความล้มเหลวที่ผ่านๆ มาเป็นเพราะสภาพแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศไม่เอื้ออำนวยให้ฝรั่งเศส กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกต่อไปแล้ว ส่วนที่ผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เช่นในอัฟกานิสถานถือเป็นเรื่องปกติ ผมถือคติว่าคนผิดพลาดคือคนที่ทำงาน ...แต่อย่าผิดพลาดตลอดเวลาก็แล้วกัน บ้านเราคงไม่มีน่ะครับแบบนี้ 555 กรณีการ รบที่ เดียน เบียน ฟู ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวเวียดนามที่ล้มยักษ์ได้เสียงดังสนั่นจริงๆ ทุกวันนี้คนฝรั่งเศสก็ยังงงๆ กับตัวเองเหมือนกันว่าแพ้ไปได้ยังไง แต่ที่แน่ๆ คือความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ตัดสินผลของสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานมา 9 ปี โดยฝรั่งเศสยกเอกราชให้ประเทศอินโดจีนทั้ง 3 ประเทศทันทีแต่ไม่ได้เตือนลุงแซมว่าอย่าเข้าไปยุ่ง 555 ใน ช่วงท้ายๆ ของสงคราม ฝรั่งเศสพยายามแสวงหาสถานการณ์ทางทหารที่ได้เปรียบเพื่อบีบบังคับให้ข้าศึก ต้องเจรจาเพื่อให้ฝรั่งเศสออกจากเวียดนามได้อย่างสง่างาม โดยมีแนวคิดว่าจะดึงดูดความสนใจของข้าศึกที่ เดียน เบียน ฟู และเสริมความเข้มแข้งให้กับส่วนอื่นๆ ของเวียดนาม แล้วเตรียมปฏิบัติการครั้งใหญ่โดยคิดว่า เดียน เบียน ฟู เป็นเกณฑ์เสี่ยงที่ยอมรับได้ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นตรงกันข้าม กลับกลายเป็นว่าฝรั่งเศสเสียเปรียบในการเจรจาเพราะการแพ้ที่ เดียน เบียน ฟู ทำให้มีทหารของตนตกเป็นเชลยศึกกว่า 10,000 คน และฝรั่งเศสจึงละทิ้งทุกอย่างในอาณานิคมอินโดจีน ว่า กันว่าเหตุผลที่แพ้สรุปง่ายๆ คือผู้บังคับบัญชาประมาทข้าศึก คิดว่ายุทธวิธีการสร้างฐานที่มั่นดัดแปลงแข็งแรงขนาดใหญ่โดยมีสนามบินอยู่ ตรงกลางเพื่อการส่งกำลังบำรุงเหมาะสำหรับการรบในเขตป่าภูเขาในภาคเหนือของ เวียดนามเป็นยุทธวิธีที่ดีที่สุดแล้ว แถมยังเคยชนะด้วยยุทธวิธีแบบนี้มาก่อนแล้วที่นาซาน (Nasan) จึงไม่คิดที่จะปรับปรุงหลักนิยมและมองไม่เห็นจุดอ่อนคือ ไม่ได้อยู่บนที่สูงข่ม และอยู่ห่างไกลจากส่วนหลัง ส่วน สธ.2 ก็ประมาณการณ์ข้าศึกผิดพลาดมากโข คิดว่าข้าศึกคงมีกำลังไม่เกิน 2 กองพล ความยากของภูมิประเทศคงทำให้ข้าศึกขนปืนใหญ่ไม่เกินขนาด 75 มม.มาใช้ และคงมีกระสุนรบได้ไม่เกิน 7 วัน แต่ปรากฏว่าทหารเวียดมินห์รวมกำลังกันได้ 6 กองพล มากกว่า 60,000 คน (ฝรั่งเศสใน เดียน เบียน ฟู มี 12,000 คน) แถมขนปืนใหญ่ขนาด 105 มม.มาได้ตั้ง 24 กระบอก และพัฒนาเส้นทางการส่งกำลังบำรุงในเขตหลัง สามารถส่งกำลังบำรุงได้เรื่อยๆ ตลอด 57 วันของการรบ สธ.3 ก็ชะล่าใจนึกว่าปืนใหญ่ข้าศึกจะใช้ไม่ถนัดเพราะต้องไปแอบอยู่หลังเนินแล้ว ยิง แล้วก็ทนงคิดว่าปืนใหญ่ฝรั่งเศสลูกหลานนโปเลียนจะกลบเสียงปืนข้าศึกให้เงียบ เป็นเป่าสาก ปรากฏว่าข้าศึกเล่นฝังปืนใหญ่เข้าไปในลาดเนินแล้วยิงออกมา แถมกระจายกระบอกกันออกไปแต่ระดมยิงไปที่เดียวกัน ทำเอา ผบ.กรมปืนฝรั่งเศสฆ่าตัวตายเมื่อเห็นว่าไม่สามารถทำลายปืนเวียดนามลงได้ ผู้บังคับบัญชาฝรั่งเศสก็คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนทางอากาศอย่างเต็มที่ ทั้งเครื่องบินรบและเครื่องบินลำเลียง เอาเข้าจริงๆ การสนับสนุนทางยุทธวิธีไม่ค่อยได้ผล เครื่องบินมีไม่เพียงพอ ต้องบินมาไกล ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และสนามบินของค่ายก็เป็น HPT สำหรับข้าศึก ซึ่งก็เป็นจริง เพียง 3 วันของการรบ ข้าศึกสามารถทำลายสนามบิน ขัดขวางการขึ้น-ลงของเครื่องบิน เหลือเพียงการทิ้งร่มเท่านั้น ข้อผิดพลาดอีกประการคือไม่มีแผนการปฏิบัติการยุทธบรรจบกับหน่วยข้างเคียง เพื่อร่นถอยออกจากวงล้อม และไม่มีการปฏิบัติใดๆ เพื่อทำลายการส่งกำลังบำรุงของข้าศึกมายังพื้นที่การรบเลย !

 

แหล่งอ้างอิง จาก 

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=hummel&month=27-05-2007&group=2&gblog=2

 

 

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
SoldLon's profile


โพสท์โดย: SoldLon
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
32 VOTES (4/5 จาก 8 คน)
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
หนุ่มเร่ขาย "ลาบูบู้" กลางสี่แยก..ทำเอาหลายคนแห่ถามพิกัดเขมรดราม่า วิจารณ์กันเอง! หลังเห็นมังกรที่ทำขึ้นมา? ลั่น มังกรหรือหนอนน้ำ!😃ชาวเน็ตฮือฮา! ขายที่ดินพร้อมบ้าน 200 ล้าน ติดวิวสภาสัปปายะสภาสถานป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ง่ายๆ..แค่บล็อกสายโทรเข้าจากต่างประเทศบังคลาเทศ ประกาศหยุดเรียนเพราะอากาศร้อนโควิด-19 อีกแล้ว!!!เผยคำพูดปารีณา พูดกับเสรีพิศุทธ์ ในงานศwพ่อเขมรคือต้นกำเนิด วัฒนธรรมของการกิน 'สุนัข' ?ทำรากฟันเทียม แต่หน้ากลายเป็นสัตว์ประหลาด
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
ป.ป.ช. เปิดทรัพย์สิน "บิ๊กป้อม" กรณีเป็น ปธ.กกท. ทุก 3 ปี แจ้งถือครองนาฬิกา TWSTEEL 1 เรือนมูลค่า 15,000 บาทบังคลาเทศ ประกาศหยุดเรียนเพราะอากาศร้อน10 สิ่งประดิษฐ์ปริศนาในยุคโบราณวาฬนับร้อยตัวเกยตื้น ที่หาดออสเตรเลีย
ตั้งกระทู้ใหม่