หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

หนุ่มทโมนเที่ยวทมิฬ บทที่ 5

เนื้อหาโดย dejaboo

ลิงค์บทที่ 4 https://board.postjung.com/990090.html

“หนุ่มทโมนเที่ยวทมิฬ  ฟินสุดๆกับอินเดียใต้”

เรื่อง/ภาพ โดย เดชา เวชชพิพัฒน์

บทที่ 5

ติรุวัณณมไล ... ตำนานพระศิวะ โคปุรัมอลังการ เบิกบานใจมาลัยบูชา

การเลือก ติรุวัณณมไล เป็นเมืองที่ผมจะเที่ยวชมต่อไปนั้น มีผลต่อการเดินทางไม่น้อย แทนที่จะมุ่งหน้าลงใต้ไปถึงเมืองมธุไรเหมือนที่เขานิยมกัน ผมกลับเลี้ยวเข้าไปในแผ่นดิน ไม่เดินทางท่องเที่ยวแบบเลียบมหาสมุทรอีกต่อไป

        ที่เป็นเช่นนี้เพราะผมชอบภูเขา

        เที่ยวเมืองไทยก็เน้นแต่เที่ยวภูเขา ไปมาหมดเกือบทุกเขาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งเขาใหญ่เขาน้อย แต่ “เขาทราย” ไม่เคยคิดลองนะครับ มวยคนละรุ่น คนนั้นมวยโลก ส่วนผมมวยเมรุ (แย่กว่ามวยวัด ต่อยกับใครก็มีโอกาสขึ้นเมรุ)

        เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเสียด้วย เพราะนอกจากได้เดินขึ้นภูเขาใน ติรุวัณณมไล แล้ว ยังได้ของแถมมาอีกสามลูกใน ชินจี ที่ผมถือเป็น highlight ของการเที่ยวแบบออกแรงผจญภัยของทริปนี้ ส่วนสุดยอดด้านศิลปวัฒนธรรมผมยกให้ เทวาลัยแบบ “ฮอยสาลา” ในเมืองโสมนาถปุระ 

        ค่อยๆ ติดตามไปนะครับ

        ขณะอยู่บนรถประจำทางมุ่งหน้าเข้า ติรุวัณณมไล ผมมองทิวทัศน์สองข้างทางอย่างตื่นตาตื่นใจ ภูเขาแต่ละลูกแปลกตาเหมือนไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นผลงานของยักษ์ที่นำหินก้อนใหญ่น้อยมากองกันจนเป็นภูเขา ไม่เชื่อก็ดูรูปสิครับ

ภูเขาหินกองแบบนี้มีให้เห็นตลอดทาง หินบางก้อนใหญ่เท่าบ้านเดี่ยวหนึ่งหลัง

        ระหว่างทางผมเห็นภูเขาลูกหนึ่ง รูปร่างหน้าตาสวยผิดหูผิดตาภูเขาลูกอื่นๆมองไปบนยอดเห็นสิ่งก่อสร้างด้วยครับ จึงรีบถามคนข้างๆ ว่าภูเขาลูกนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือไม่ มีชื่อว่าอะไร เขาพยักหน้าตอบเป็นภาษาทมิฬที่ผมฟังไม่รู้เรื่อง แต่ดูออกว่าเป็นการตอบรับ ผมจึงถามชื่อเมือง เขาตอบว่า ชินจี ผมจึงรีบจำชื่อเมืองไว้และบอกตัวเองว่าจะต้องมาขึ้นภูเขาลูกนี้ให้ได้

ต่อจากนั้นไม่นานก็ถึงเมือง ติรุวัณณมไล เห็นภูเขา Arunachala แต่ไกล

สถานีรถประจำทางแห่ง ติรุวัณณมไล อยู่ใกล้ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ Arunachala เมื่อลงจากรถผมจึงควักกล้องออกมาถ่ายรูป เท่านั้นแหละ ชาวติรุฯ หลายคนแสดงความเป็นมิตรด้วยการเรียกผมเข้าไปถ่ายรูป มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ทุกรายที่ผมถ่ายรูปให้ไม่มีใครมีน้ำใจถามผมสักคำว่ากินข้าวมาหรือยัง หิวไหม ถ่ายรูปให้พวกเราแล้วเอาเงินไปกินข้าวกินน้ำสักร้อยรูปีไหม ไม่มีสักรายเลยครับ ตอนนั้นผมหิวจะเป็นลม จึงหมดอารมณ์ถ่ายรูป รีบเก็บกล้องแล้วเดินหาของกิน อย่างที่เคยบอกแหละ สถานีรถฯคือแหล่งหาของกินที่ดีที่สุด แต่อย่าหวังว่าจะได้กินข้าวให้อยู่ท้อง มีแต่ของว่างครับ

ไช หรือ ชาร้อน กินแกล้มกับ “แม่บาเยีย” เรียกชื่อนี้เพราะรสชาติและรูปร่างหน้าคล้ายบาเยียในบ้านเรา แต่ลูกโตกว่าสองเท่า ยกให้เป็นแม่เลยจ้า

        ระหว่างทางที่เดินจากสถานีรถประจำทางเข้าไปหาที่พักใกล้วัดใหญ่แห่งเมืองนี้ ผมร้องอ๋อไปตลอดทางก็ว่าได้ ร้องเสียงดังด้วยครับ แบบว่า เดี๋ยวๆก็อ๋อ เดี๋ยวๆก็อ๋อ จนชาวติรุฯ มองแถมทำท่าเหมือนจะจับผมส่งโรงพยาบาลบ้า ... อดร้องไม่ได้จริงๆครับ เพราะรู้ที่มาของชื่อเมือง ติรุวัณณมไล คำท้ายออกเสียงคล้าย มาลัย สรุปเองว่าเป็นเพราะพวงมาลัยงามนั่นเอง เป็นมาลัยบูชาที่วางขายทั้งเมือง

ผมเดินแบกเป้ไป แวะถ่ายรูปพวงมาลัยไปโดยไม่รู้สึกเหนื่อยแม้แต่นิดเดียว สดชื่นรื่นรมย์เสียด้วยซ้ำ กลิ่นมะลิของที่นี่หอมเตะจมูกบานเลยครับ ไม่ต้องยื่นจมูกเข้าไปดมด้วย แค่ยืนใกล้ๆก็ได้กลิ่นแล้ว

ไม่นานนักผมก็เข้าใกล้วัดใหญ่แห่งเมืองนี้ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่ง ผู้แสวงบุญชาวฮินดูต่างรู้จักดี มีชื่อคล้ายภูเขาที่อยู่ใกล้คือ Arunachaleswar Temple (มีอีกชื่อคือ Annamalaiyar Temple) สร้างในสมัยราชวงศ์โจละช่วงศตวรรษที่เก้า เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย บางตำราบอกว่าใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมพื้นที่สิบเฮกตาร์ วัดนี้จึงมีพื้นที่ 62.5 ไร่ (หนึ่งเฮกตาร์เท่ากับ 6.25 ไร่) วัดขนาดใหญ่เช่นนี้เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งกับการรองรับนักแสวงบุญที่มากันมากถึงครึ่งล้านคนในช่วงเทศกาล 

ถามว่าทำไมจึงเป็นวัดที่ใหญ่และสำคัญขนาดนี้ คำตอบอยู่ในตำนานและอยู่ที่ภูเขา Arunachala ครับ กล่าวคือมีแท่งหินไฟเกิดขึ้นบนภูเขาลูกนี้ ซึ่งเป็นที่มาของสัญลักษณ์ ศิวลึงค์ นั่นเอง

เห็นความสำคัญของภูเขาลูกนี้หรือยังครับ

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อถึงกำเนิดของศิวลึงค์ว่ามาจากงานบูชา ตรีมูรติ หรือที่พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ต้องแสดงกายให้สาวกเห็น ซึ่งพระพรหมปรากฏกายที่มีสี่หน้าสี่แขน พระวิษณุปรากฏกายที่มีหนึ่งหน้าสองแขน แต่พระศิวะปรากฏกายเป็นรูปอวัยวะเพศชาย ด้วยเหตุนี้ผู้ศรัทธราชาวฮินดูจึงสร้างรูปเคารพพระศิวะเป็นรูปอวัยวะเพศชาย ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะ

        ระหว่างหาที่พักผมถ่ายรูป โคปุรัม ของวัดนี้มาให้ชมด้วย มีทั้งหมดสี่โคปุรัม โคปุรัมที่สูงสุดอยู่ทางทิศเหนือ มีความสูง 66 เมตร จัดเป็นหนึ่งในโคปุรัมที่สูงเป็นอย่างยิ่งในอินเดีย

   

อยู่เมืองนี้มองไปทางไหนก็เห็นแต่โคปุรัม

        ด้วยความเป็นเมืองที่มีวัดใหญ่มีภูเขาศักดิ์สิทธิ์จึงมีเทศกาลบ่อย เทศกาลที่มีคนมาร่วมมากที่สุดคือ Karthigai Deepam จัดในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม มีการจุดไฟดวงใหญ่บนยอดเขาที่สามารถมองเห็นได้จากที่ไกลหลายกิโลเมตร ไฟนี้เป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะและตามตำนาน จึงทำให้มีผู้มาร่วมเทศกาลนี้มากถึงสามล้านคน

        เพื่อให้เห็นภาพว่าคนสามล้านคนจะอยู่ตรงไหนบ้างในวัดและในเมืองแห่งนี้ ผมจึงเดินหาทางขึ้นเขาจนเจอแล้วรูปถ่ายมาฝากครับ

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณตีนภูเขาลูกนี้ก็เป็นมิตรอย่างยิ่ง ยิ่งเดินถือกล้องก็ยิ่งมีแต่คนขอให้ถ่ายรูป

ผมเห็นผู้หญิงอินเดียใต้ไว้ผมทรงนี้หลายคน เกิดจากการถือบวชครับ

        อยู่บนภูเขาชมทิวทัศน์จนอิ่มตาอิ่มใจแล้วผมลงมาเข้าไปชมในวัด เสียดายที่เขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป จึงไม่สามารถนำความงดงามยิ่งใหญ่ภายในวัดมาให้คุณผู้อ่านดู ผมเดินชมจนแสบเท้าจึงรีบวิ่งออกจากวัดมาใส่รองเท้า ความรู้สึกเหมือนตอนไปเที่ยวพม่า ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าวัดทุกวัด มาเที่ยวที่นี่จึงควรพกยาทาที่รักษาอาการลวกพองมาด้วย ชื่อครีมลงท้ายว่า รูดอยด์ๆ ไงครับ

        เช้าวันรุ่งขึ้น ผมทำตามที่ตั้งใจครับ นั่งรถประจำทางไปเมืองชินจีเพื่อเดินขึ้นภูเขาลูกสวยที่เห็นตอนนั่งรถผ่าน ขอตั้งคำขวัญให้แก่เมืองนี้ว่า

“ชินจี … อึดทัวร์ประกาศศึก ถึกทัวร์ประกาศสู้”

โดยเริ่มต้นทัวร์ชื่อโหดนี้ด้วยการกินมื้อเช้าที่สถานีรถฯ เป็นขนมปังไส้หวานกับชาร้อนในภาชนะแปลกตา มีชามรองติดมาด้วย ชามนะครับไม่ใช่จาน เขาให้มาแบบนี้เพื่อคนกิน “ชักชา” เอง ซึ่งก็คือการเทชาไปมาระหว่างแก้วกับชาม ชาจะได้หอมกรุ่นรสกลมกล่อม คงเป็นเพราะมีออกซิเจนผสมเข้าไปขณะชาไหลอยู่ในอากาศ ผมลองชักชาดูปรากฏว่าถ้วยหลุดมือ ชาหกนองเต็มโต๊ะ พนักงานรีบมาเช็ด แถมเช็ดไปบ่นไป หน้าตาก็บูดบึ้งราวกับชาติที่แล้วผมโกงแชร์เขา

        ช่วยไม่ได้นะน้อง พี่เกิดมาไม่เคยชักชาเลยแม้แต่ครั้งเดียว ที่บ้านก็กินชาใบหรือไม่ก็ชาซอง ที่โรงเรียนก็ไม่ได้สอน ที่มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เป็นทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือก ตอนทำงานบริษัทก็มีแม่บ้านชงชามาให้กินถึงโต๊ะ (มีอยู่รายเดียว ทำให้เพราะจะขอยืมเงิน) ขอบอกว่านี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายหรอกนะ ที่น้องจะเช็ดชาหกให้นักท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นก็ทำหน้าตาให้มันดีหน่อย ว่าจะให้ทิปสักหนึ่งรูปี ทำหน้าแบบนี้กินแห้วอินเดียแทนละกัน

นี่แหละครับ “ชาชักเอง” ทั้งถ้วยทั้งชามร้อนและลื่น ชักเองจึงหกเอง

        กินชากับขนมปังรองท้องแล้วรีบขึ้นรถ บอกตัวเองว่าเดี๋ยวไปหาข้าวกินที่เมืองชินจี ขอบอกว่าอย่าคิดแบบนี้ตอนมาเที่ยวอินเดียใต้เชียวนะครับ ประมาทเป็นอย่างยิ่ง เพราะพอไปถึงชินจี ปรากฏว่าหาของกินยากกว่าที่นี่เสียอีก สิบเบี้ยใกล้มือดีที่สุด มีอะไรกินได้กินไปก่อน ผมจึงได้แต่ซื้อ “อาบังโดนัท” (ชื่อที่ถูกต้องคือ “วได”) สี่ชิ้น กะว่าจะกินตอนสายๆขณะอยู่บนภูเขา กินไปชมทิวทัศน์ไป มีความสุขสุดๆ แต่ฝันหวานของผมก็กลายเป็นฝันร้าย เรื่องเป็นอย่างไรเดี๋ยวก็ได้รู้แล้ว

        มี “วได” สี่ชิ้น คุ้กกี้ช็อกโกแลตหนึ่งห่อกับน้ำสองขวดใหญ่ผมก็พร้อมขึ้นภูเขาแล้วครับ โดยเริ่มเดินจากสถานีรถประจำทางแห่งชินจีไปยังภูเขาที่อยู่ใกล้สุด ระยะทางสองหรือสามป้ายรถเมล์บ้านเราเอง ระหว่างทางเจอ “วัวแฟนซี” ด้วย เจ้าของทาสีฟ้าที่เขา

เด็กคนหนึ่งเห็นผมถ่ายรูปวัวจึงวิ่งมาขอถ่ายรูปบ้าง ผมมองภาชนะใส่อาหารในมือเขาแล้วขอแลกกับการถ่ายรูป จะได้มีของกินตอนอยู่บนภูเขา แต่เด็กไม่ยอมเสียเปรียบเฒ่าเจ้าเล่ห์อย่างผม จึงได้แต่ถ่ายรูปให้ฟรีๆ ส่วนภูเขาที่เห็นอยู่ด้านหลังคือภูเขาที่ผมขึ้นเป็นลูกแรกของวันนี้ ... Krishnagiri (กฤษณะคีรี)

ไม่นานนักผมก็เดินไปถึงหน้าภูเขา Krishnagiri งานนี้มีเพื่อนด้วย ใส่ส่าหรีสีสวยสด ขอตั้งชื่อให้ว่ากลุ่ม “เฟมินิสต์พิชิตภู”  

        บนภูเขาลูกนี้ป้อมปราการชื่อว่า Krishnagiri Fort (ป้อมกฤษณะคีรี) เป็นหนึ่งใน Gingee Fort ที่มีอีกป้อมคือ Chandrayandurg Fort ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม และ Rajagiri Fort ที่อยู่เยื้อง อังกฤษให้ฉายาป้อมแห่งชินจีนี้ว่า “กรุงทรอยแห่งตะวันออก” เป็นหนึ่งในป้อมปราการโบราณที่เหลือรอดอยู่ไม่กี่แห่งในทมิฬนาฑู

        ประวัติของเมืองชินจีนี้ไม่เบานะครับ ย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่หกเป็นอย่างน้อย กล่าวคือมีหลักฐานว่าผู้นับถือศาสนาเชนเคยอยู่ที่เมืองนี้ช่วง 200 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงศตวรรษที่ 500  

ขอแทรกหน่อยครับว่า ศาสนาเชนเกิดขึ้นในศตวรรษที่หก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญถือว่าเกิดร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยมเช่นเดียวกันอีกด้วย ถือหลักการไม่เบียดเบียน ถือว่าการบำเพ็ญตนให้ลำบากเพื่อนำไปสู่การบรรลุธรรม ผู้ที่ฝึกฝนดีแล้วย่อมไม่หวั่นไหวทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดทางกาย วาจา ใจ มีศาสดาคือพระมหาวีระ หรือ นิครนถนาฏบุตร หรือ องค์ตีรถังกรแปลว่าผู้สร้างทางข้ามพ้นไป

กบในกะลาอย่างผมศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับศาสนานี้แล้วเอะใจว่าทำไมเหมือนกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งแนวคิดและศาสดา เกิดอะไรขึ้นกับการถ่ายทอดเรื่องราวของทั้งสองศาสนา ... ได้แต่ “ปักธง” ไว้

ต่อจากนั้นประชาชนในการปกครองของราชวงศ์ปัลลวะก็เข้ามาอยู่ในชินจีช่วงศตวรรษที่หกถึงเก้า โดยมีหลักฐานคือเทวาลัยที่เกิดจากการแกะสลักหินบนภูเขาในเมือง Mandagapattu ที่อยู่ใกล้ชินจีเพียง 17 กิโลเมตร

จนกระทั่งช่วงปี พ.ศ.1733 - 1873 ซึ่งเป็นช่วงของ Konar Heritage ประมุขนาม Anandha Koan เริ่มสร้างป้อมที่ Rajagiri โดยตอนนั้นใช้ชื่อว่า Anandhagiri และ ประมุขอีกองค์นาม Krishna Koan เป็นผู้สร้าง Krishnagiri

ช่วงศตวรรษที่ 14 ที่เป็นยุคสมัยของราชวงศ์วิชัยนคร ป้อมปราการบนภูเขาแห่งเมืองนี้ถูกยกระดับอย่างเป็นทางการ ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2052 - 2072กษัตริย์ Krishna Deva Raya ยกให้ชินจีเป็นเมืองหลวงและเป็นอยู่นานถึง 150 ปี ช่วงนี้จึงมีการสร้างต่างๆบนป้อมปราการมากมาย เช่น กำแพงที่ทำด้วยหินแกรนิต อาคาร เทวาลัย ซึ่งนักประวัติศาสตร์เห็นพ้องว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับเมืองโบราณ “ฮัมปี” 

ช่วงศตวรรษที่ 16 เมืองชินจีตกเป็นของอาณาจักรมรธา ก่อนเปลี่ยนเจ้าของเป็นสุลต่าน Bijapur และเป็นของราชวงศ์มุฆัล จนในปี พ.ศ. 2293 จึงตกเป็นของฝรั่งเศสอยู่นานถึงสิบปี และหลังสุดตกเป็นของอังกฤษในปี พ.ศ. 2304

ระหว่างตกเป็นของอังกฤษก็มีเรื่องราวต่อสู้เพื่อแย่งชิงเมืองนี้ โดยในปี พ.ศ. 2323 กษัตริย์แห่งไมเซอร์ Hyder Ali ทำสงครามกับอังกฤษเพื่อชิงเมืองนี้คืนมา แต่เสียดายว่าสู้อังกฤษไม่ได้ เมืองนี้จึงอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษต่อไป 

        ศึกษาประวัติแล้วสงสัยว่าใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของป้อมปราการแห่งเมืองชินจี มีดีอะไรนักหนา อยากรู้ต้องตามผมขึ้นเขาไปดูครับ

เดินขึ้นเขาได้ไม่นานกลุ่ม “เฟมินิสต์พิชิตภู” ขอให้ถ่ายรูปหมู่

ทิวทัศน์ระหว่างทาง มองเห็น ราชาคีรี อยู่ใกล้ๆ

        เดินต่อได้ไม่นานท้องร้องหิวครับ เห็นลานกว้างวิวสวยจึงหยิบ “วได” หรือ “อาบังโดนัท” ออกมาวาง ตั้งใจว่าจะกินไปชมวิวไป แต่ฝันสลายกลายเป็นฝันร้าย ขณะถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ลิงตะกละโผล่มาจากไหนก็ไม่รู้ คว้าอาบังโดนัทไปหน้าตาเฉย ผมรีบถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานแจ้งความกับตำรวจ พอลดกล้องลงก็เห็นว่ามีอีกหลายตัวล้อมวงเข้ามา ใจผมหล่นไปอยู่ที่ตาตุ่ม รีบเก็บของแล้ววิ่งหนีแทบไม่ทัน เจ้าตัวใหญ่สุดมันวิ่งตามมาแยกเขี้ยวขู่แล้วแย่งคุ้กกี้ทั้งถุงไปจากมือผม ... หูยทำไมมันดุอย่างนี้ ดุเหมือนลิงที่ลพบุรีเลย

แต่ความกลัวไม่มากเท่าความอาย เงยหน้ามองเห็นกลุ่มเฟมินิสต์พิชิตภูยืนมองอยู่ ทุกคนอมยิ้มแบบกลั้นหัวเราะ ผมจึงต้องรีบปฏิบัติการรักษาสิ่งหนึ่งที่ผมรักพอๆ กับชีวิต ... ฟอร์มไงครับ เสียอาบังโดนัทน่ะเสียได้ ทนหิวได้ แต่เสียฟอร์มนี่ไม่ได้จริงๆ จึงเดินเข้าไปใกล้ๆแล้วยักไหล่ใส่พวกเขา เอียงหน้าเล็กน้อย เบะปากนิดๆ ก่อนกล่าว

“ลิตเติ้ลๆ”

        จากนั้นก็เดินขึ้นเขาต่อ สาวๆ ชาวคณะเฟมินิสต์พิชิตภูเดินเขาเก่งไม่แพ้ชาย หรืออาจจะเก่งกว่าด้วยซ้ำ เดินส่าหรีปลิวเหมือนเดินบนแคทวอล์คเลยครับ

จากนั้นก็เริ่มเห็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นส่วนหนึ่งของป้อมปราการ เช่น ป้อมยาม อาคารหลังใหญ่

โชคดีที่เจอสาวๆกลุ่มนี้ ทำให้ภาพถ่ายดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาเยอะเลย

ด้านหลังภูเขาเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ มิน่าล่ะ จึงเลือกสร้างที่นี่

นอกจากนี้ยังมี เทวสถาน และ พระราชวังหลังน้อย ที่งดงามทั้งนอกและใน

Krishna Temple (ซ้ายมือ) กับ Durbar Hall (ขวามือ)

ผมถ่ายรูปเพลินจนกลุ่มเฟมินิสต์พิชิตภูลงจากเขาไป จึงเหลือผมอยู่เพียงลำพังบนยอดเขาอันเป็นที่ตั้งป้อมปราการโบราณ เมฆก้อนใหญ่ลอยมาบังแสงอาทิตย์ตอนสาย ลมเย็นพัดมาเรื่อยๆ ผมเดินไปนั่งพิงเสาใต้ร่มเงาสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ที่เหลือเพียงเสาหินกับหลังคา มองไปที่แหล่งน้ำและทุ่งนา ความคิดล่องลอยไปถึงชื่อเพลงโปรด The Sound of Silence ฟังเพลงนี้มาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เพิ่งเข้าใจความหมายตอนนี้เอง เสียงแห่งความเงียบสงบ เป็นเสียงที่ฟังได้ด้วยใจเท่านั้น และต้องเป็นใจที่ผ่อนคลายสงบนิ่ง ... ขอบคุณความเงียบสงบบนภูเขาลูกนี้ที่ทำให้ผม “รู้จัก” เพลงโปรดเป็นอย่างดี แม้จะช้าไปหน่อยก็ตาม

        ผมนั่งอยู่ตรงนั้นนานเชียวครับ นานเท่าที่ผมพอใจ มาเที่ยวเองและเที่ยวคนเดียวก็ดีแบบนี้ ทำให้คำว่า “เวลา” ถูกลบออกจากสมองไปอย่างไม่รู้ตัว เหลือเพียงความว่างเปล่า แม้มองเห็นสิ่งก่อสร้าง มองเห็นภูเขา มองเห็นทุ่งนา แต่ใจผมตอนนั้นมีแต่ความว่างเปล่า ปราศจากความทรงจำใดๆ ที่ดีและไม่ดี ซึ่งผมเห็นว่าเป็นความว่างที่มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สินใดๆ เช่นเดียวกับความว่างที่เกิดจากการทำสมาธิกำหนดจิตยุบหนอพองหนอ

จนกระทั่งเมฆก้อนใหญ่ปล่อยแสงอาทิตย์ส่องมาที่ยอดหลังคาและตัวผม ผมจึงบอกตัวเองว่าได้เวลาเที่ยวต่อ ใช่ครับ คำว่า “เวลา” กลับเข้ามาสู่ในชีวิตผมอีกครั้ง และเป็นคำที่ทำให้ผมก้าวลงจากยอดเขา Krishnagiri อย่างอาลัยอาวรณ์

รูปสุดท้ายบนยอดเขา Krishnagiri

เนื้อหาโดย: เดชา เวชชพิพัฒน์
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
dejaboo's profile


โพสท์โดย: dejaboo
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
24 VOTES (4/5 จาก 6 คน)
VOTED: แมวฮั่ว แมวขี้น้อยใจ, zerotype, ginger bread
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เพื่อน "ออกัส" ซัดแหลก..พระเอกดังต่างหาก ถูกข่มขู่ให้กราบเท้า!!ชาวบ้านตาดี พบคู่รักซั่มกันในทะเล ที่ภูเก็ต (มัีคลิป)ลูกค้าหนุ่มเศร้า หลังรีวิวชุดกีฬาที่ซื้อมา แต่ดันพลาดเห็นหนอนน้อยคนไข้วัย 72 ติดเชื้อโควิดนาน 613 วัน ก่อนกลายพันธุ์ในร่างกายกว่า 50 ครั้งหนังเรื่อง "คนกราบหมา" ได้เข้าฉายหลังจากถูกแบนมา 25 ปีชาวลาวไม่ทน! หลังหนุ่มจีนโพสทิ้งเงินกีบลงในถังขยะ ทำคนลาวถึงกับไม่พอใจ?
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
อิหร่านขู่ถล่มที่ตั้งนิวเคลียร์ ของอิสราเอลด้วยขีปนาวุธชวนมารู้จักลาบูบู้ มาการอง เดี๋ยวจะคุยกับเค้าไม่รู้เรื่อง"ลาบูบู้" ไม่รอด โดนเขมรเคลมเรียบร้อยแล้ว..บอกรากเหง้ามาจาก "หน้ากาล"หนังเรื่อง "คนกราบหมา" ได้เข้าฉายหลังจากถูกแบนมา 25 ปี
กระทู้อื่นๆในบอร์ด Review, HowTo, ท่องเที่ยว
อะเมซิ่งไทยแลนด์ ! แพร่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ นักท่องเที่ยวทะลักแห่เที่ยว ฉลองสงกรานต์ 5 วัน เงินสะพัดกว่า 100 ล้าน พลิกโฉมหน้าก้าวสู่เมืองหลักอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสวยๆ ในลำปางแจกสูตร ทำสังขยาใบเตย ทำง่าย ๆ ไม่กี่ขั้นตอนรีวิวหนังสือ The Wizard of Oz พ่อมดออซ กับเมืองมรกตมหัศจรรย์
ตั้งกระทู้ใหม่