ผมยกพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ (ว่าด้วยคุณแลโทษของหวยแลบ่อนเบี้ย) ขึ้นมาแสดงเพราะเห็นว่า เป็นข้อเขียนที่ดีที่สุดครอบคลุมที่สุดว่าด้วยคุณและโทษของการเปิดบ่อน (รวมถึงหวย) ถูกกฎหมายโดยรัฐ เป็นข้อเขียนที่ยกทั้งข้อดีและข้อเสียอิงกับประโยชน์นิยม ไม่อิงกับอุดมการณ์ทางการเมือง หรือคุณค่าด้านศีลธรรม ทั้งเป็นประสบการณ์โดยตรงของผู้ที่เคยบริหารจัดการเรื่องนี้
พูดถึงเรื่องบ่อนเสรี (เรื่องอย่างหรูหราว่ากาสิโน) อย่าไปอ้างศีลธรรมครับ ต้องอ้างผลเชิงประจักษ์ เช่น ผลกระทบต่อสังคมและรัฏฐะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การอ้างศีลธรรมเป็นเรื่องน่าเย้ยหยันของใครหลายคน
รัฐบาลประเทศสยามหรือไทยมีประสบการณ์ครบถ้วนมาแล้วทั้งบ่อนเบี้ยและสถานกาซิโน และมีการประเมินมาแล้วว่าผลลัพธ์เป็นเช่นไร ในยุคของ “บ่อนเบี้ย” เกิดขึ้นในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลพบว่าประชาชนเล่นพนันกันแบบหัวราน้ำ รัฐบาลได้เงินอากรมากมาย แต่ผลทางสังคมนั้นเลวร้ายมาก ดังที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงตั้งข้อสังเกตถึงชุมชนที่มีการเปิดบ่อนว่า
“ .... ไม่เห็นใครบริบูรณ์ขึ้นพากันเข้าบ่อนทั้งผู้หญิงผู้ชาย ที่รอดอยู่ได้ก็คือ พวกที่ยกบ้านเรือนไปตั้งทำนาอยู่ตามทุ่งนาที่ไกลๆ หรือออกไปตั้งแลกข้าวตกเข้าอยู่ในที่ห่างๆจากโรงบ่อน พวกนั้นค่อยยังชั่วหน่อยแต่ถึงกระนั้นก็ดี ถ้ามีช่องโอกาศได้ลงมากลางเมืองได้เมื่อไร ขายข้าวได้มีเงินติดตัวอยู่เท่าใดก็หมดไปเท่านั้นเหมือนกัน .... ”
ต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว มีข้อเสนอให้ตั้ง “สถานกาซิโน” ของรัฐบาล เสนอโดยนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามหนแรก ข้อเสนอนี้มีจุดประสงค์เพื่อหาเงินแทนเงินรัชชูปการที่ยกเลิกไป จนเกิดมี “พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงื่อนไขการพนันตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการพนัน” ดำเนินครั้งแรกที่หัวหิน เมื่อพฤษภาคม ๒๔๘๒ แต่เปิดได้ ๒ วันก็ล่ม เพราะคนไม่เข้า นัยว่าประเจิดประเจ้อเกินไป
ต่อมาในปี ๒๔๘๗ - ๒๔๘๘ รัฐบาลควง อภัยวงศ์ มีการเปิดบ่อนเสรีกาสิโน คราวนี้ประสบความสำเร็จ เพราะมีคนเข้าใช้บริการล้นหลาม แต่เพราะคนไทยนั้นพนันกันไร้ขีดจำกัดทำให้สิ้นเนื้อประดาตัวกันมาก รัฐได้เงินก็จริง แต่ประชาชนได้ความฉิบหาย สุดท้ายจึงต้องเลิกกันไปในเวลาแค่ ๔ เดือน
การพนันอาาจทำเงินให้รัฐก็จริง แต่ผลเสียด้านอื่นๆ รุนแรงกว่ากันมาก ประเทศอื่นๆ ที่ทำกันได้อย่างตลอดรอดฝั่งผมเชื่อว่าเพราะประชาชนไม่ได้คลั่งไคล้การพนันเท่าคนไทย คนไทยเรานั้นพอลงมือก็เลิกยากเสียแล้ว และกว่าจะเลิกได้ก็เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ถึงเป็นทาสเขาก็ยอม ดังที่ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสที่เข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า
“ .... ชาวสยามอยู่ข้างค่อนรักเล่นการพนันเสียเหลือเกิน จนถึงจะยอมผลาญตัวเองให้ฉิบหายได้ ทั้งเสียอิสรภาพความชอบธรรมของตัวหรือลูกเต้าของตัว ด้วย ในเมืองนี้ใครไม่มีเงินพอจะใช้เจ้าหนี้ได้ก็ต้องขายลูกเต้าของตัวเองลงใช้หนี้สิน และถ้าแม้ถึงเช่นนี้แล้วก็ยังมิพอเพียง ตัวของตัวเองก็ต้องกลายตกเป็นทาส .... ”
แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเห็นเป็นตรรกะว่า การพนันทำให้คนสยามตกลงเป็นทาสมากมาย หากคิดจะเลิกทาสต้องเลิกการพนันเสียก่อน ดังทรงมีพระราชดำริว่า
“ .... การมีราษฎรที่มัวเมาอยู่ในการพนันย่อมเป็นเหตุนําไปสู่ความวิบัติทั้งทางส่วนตัวและทางความมั่นคงของประเทศชาติ...ข้าพเจ้าเห็นว่ายังมีความขัดข้องอยู่ด้วยกรุงสยามยังมีภาษีหวยถั่วโป การพนันต่างๆ ฝิ่น เหล้าเหล่านี้ที่จริงได้ทําคนให้เป็นทาษ ให้โทษแก่มนุษย์ทั้งหลาย...จะต้องคิดดับของเหล่านี้เสียก่อนจึงจะเลิกทาษได้ .... ”
แม้ทุกวันนี้ มีแค่บ่อนใต้ดินคนก็ตกลงเป็นทาสหนี้นอกระบบกับผู้มีอิทธิพลมากมาย ยังไม่นับว่าครอบครัวไม่น้อยต้องบ้านแตกสาแหรกขาดก็เพราะการพนันอีกเท่าไหร่