โปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก
ทุกวันนี้คงไม่มีใครสงสัยถึงอิทธิพลมหาศาลที่คอมพิวเตอร์มีต่อชีวิตประจำวันของทุกๆ คน แต่ในประเทศอังกฤษสมัยทศวรรษที่ 19 ในสมัยที่แม้กระทั่งคนในวงการวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็มองว่า "คอมพิวเตอร์" (ถ้าสามารถสร้างขึ้นได้จริง) ก็เป็นเพียง "เครื่องคิดเลข" มีผู้หญิงคนหนึ่งเชื่อในความเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังของคอมพิวเตอร์ก่อนที่คอมพิวเตอร์เครื่องแรกจะถูกสร้างขึ้นมา เธอคนนั้นชื่อว่าออกุสต้า เอด้า คิง เคาน์เตสแห่งเลิฟเลซ เรียกกันโดยทั่วไปในชื่อของ "เอด้า เลิฟเลซ"โปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก
"เอด้า เลิฟเลซ" โปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก [1]
ลอร์ดไบรอน กวีชื่อดัง บิดาของเอด้า เลิฟเลซ [2]
เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่โปรแกรมเมอร์คนแรกของโลกเป็น "เซเล็บ"ของสังคมอังกฤษในเวลานั้น เอด้า เลิฟเลซเป็นลูกสาวที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงคนเดียวของลอร์ดไบรอน กวีชื่อดัง(มาก ๆ) และดังยาวนานจนถึงทุกวันนี้ (ลอร์ดไบรอนยังมีลูกนอกกฏหมายอีกหลายคน แต่เอด้าเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงคนเดียว) เส้นทางการเป็นโปรแกรมเมอร์ของเอด้า เลิฟเลซเริ่มต้นเมื่ออายุประมาณ 18 ปี เอด้า เลิฟเลซได้พบกับชาร์ลส์ แบ็บเบจ วิศวกรเจ้าของฉายา "บิดาแห่งคอมพิวเตอร์" แบ็บเบจประทับใจในความสามารถทางคณิตศาสตร์ของเอด้า เลิฟเลซจนออกปากว่าเธอคือ "แม่มดแห่งตัวเลข" ทั้งสองคนกลายเป็นเพื่อนที่ติดต่อกันมาอีกยาวนาน
ใน ค.ศ. 1842 แบ็บเบจได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยตูรินในอิตาลีเกี่ยวกับ "เครื่องจักรวิเคราะห์" (Analytical Machine) ซึ่งเขากำลังพยายามสร้างขึ้น เครื่องจักรวิเคราะห์นี้เป็นโมเดลเริ่มแรกที่ต่อมากลายเป็นคอมพิวเตอร์ หนึ่งในผู้เข้าฟังปาฐกถาของแบ็บเบจในวันนั้นคือวิศวกรหนุ่มไฟแรง ลุยจิ เมนาเบรีย (ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอิตาลี) เมนาเบรียได้จดและตีพิมพ์ปาฐกถาครั้งนั้นของแบ็บเบจเป็นภาษาฝรั่งเศส เอด้า เลิฟเลซได้รับการขอร้องให้แปลบทความของเมนาเบรียเป็นภาษาอังกฤษซึ่งใช้เวลาเกือบปี นอกจากจะแปลบทความจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษแล้วเธอยังเพิ่มเติมโน้ตของตนเองลงไปด้วยซึ่งเธอก็คงจะ "อิน" มาก เพราะไป ๆ มา ๆ โน้ตของเอด้า เลิฟเลซนั้นยาวมากกว่าบทความของเมนาเบรียด้วยซ้ำ โน้ตนี้มี algorithm ที่จะทำให้ "เครื่องจักรวิเคราะห์" คำนวณตัวเลขเบอร์นูลลีได้ algorithm นี้เชื่อกันว่าคือโปรแกรมคอมพิวเตอร์โปรแกรมแรกของโลก ทำให้เอด้า เลิฟเลซได้รับเครดิตว่าเป็นโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลกไปด้วย
ชาร์ลส์ แบ็บเบจ บิดาแห่งคอมพิวเตอร์ [3]
"เครื่องจักรวิเคราะห์" โมเดลคอมพิวเตอร์ยุคบุกเบิก [4]
ความน่าทึ่งที่แท้จริงของเอด้า เลิฟเลซไม่ได้อยู่ที่การเป็น "ผู้หญิงในวิทยาศาสตร์"หรือเป็น "โปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก" แต่อยู่ที่วิสัยทัศน์และการมองการณ์ไกลเข้าขั้นไกลมาก ๆ ชนิดข้ามศตวรรษของเธอ โน้ตประกอบบทความของเอด้า เลิฟเลซยาวขนาดนั้นเป็นเพราะในเวลานั้น คนส่วนใหญ่มองเครื่องจักรวิเคราะห์ว่าเป็นได้มากที่สุดแค่เครื่องช่วยในการคำนวณ แต่เอด้า เลิฟเลซยืนยันว่า " (ในวันข้างหน้า) เครื่องจักรนี้จะสามารถสร้างเสียงดนตรีที่ซับซ้อนระดับไหนก็ได้" ไม่ใช่แต่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ "เครื่องจักรวิเคราะห์" เท่านั้นที่วิสัยทัศน์ของเธอทะลุทะลวง "โปรเจ็คสุดยอด" ที่เอด้าต้องการทำ(แม้ว่าจะทำไม่สำเร็จเพราะเธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัยเพียงแค่ 36 ปี) คือการใช้คณิตศาสตร์อธิบายการทำงานของสมองและระบบประสาทของมนุษย์ เป็นความคิดที่เกิดขึ้นเป็นร้อยปีก่อนที่ฟิสิกส์เชิงชีววิทยาซึ่งใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์กายภาพอธิบายการทำงานของระบบทางชีววิทยาจะเฟื่องฟู เรียกได้ว่าเธอเป็นนักฟิสิกส์เชิงชีววิทยาทางทฤษฎีรุ่น "ก่อนกาล" และเป็น "คนที่มาก่อนเวลาของตัวเอง" แบบที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า a man before his time (แต่ในกรณีนี้คงต้องเรียกว่า a woman before her time) ของแท้ไม่ปลอมไม่ลอกจริง ๆ
กิตติกรรมประกาศ
ผู้เขียนขอขอบพระคุณ อ.ดร.อภิสิทธิ์ อึ้งกิจจานุกิจ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้กรุณาแนะนำเรื่องราวของเอด้า เลิฟเลซแก่ผู้เขียน
บทความโดย
อ.ดร. ปนัดดา เดชาดิลก
อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เครดิตภาพ
[1] http://en.wikipedia.org/wiki/Ada_Lovelace#mediaviewer/File:Ada_Lovelace.jpg
[2] http://en.wikipedia.org/wiki/Lord_Byron#mediaviewer/File:Byron_1824.jpg
[3] http://en.wikipedia.org/wiki/Charles_Babbage#mediaviewer/File:Charles_Babbage_-_1860.jpg
[4] http://en.wikipedia.org/wiki/Analytical_Engine#mediaviewer/File:Analytical_Engine_(2290032530).jpg