หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

โรงหนังเก่าเราเคยเข้า...ยุคนั้นเราเคยดู

โพสท์โดย Nippon Sweetie

ความทรงจำกับโรงหนัง......เคยเข้าไปดูหนังเรื่อง It's a mad mad mad world หรือโลกบ้าบ้าบวมๆที่โรงหนังศรีพรานนกน่ะ หัวเราะแทบจะเป็นจะตายเราก็เลยรู้ว่าพอเกิดมาก็บ้าดูหนัง คงเป็นเพราะสาเหตุนี้นี่เองที่พอเราโตขึ้นมาสักหน่อยพวกพี่ๆก็พาไปดูหนังจีนกำลังภายในประเภทเดชไอ้ด้วน ที่ตอนนั้นเราดูยังไงก็ไม่รู้เรื่อง แต่ก็สนุกเหมือนกัน ที่โรงหนังชั้นสอง แถวๆบางซื่อมั้ง

พระเอกตลอดกาล มิตร ชัยบัญชา ตกเครื่องบินจนเสียชีวิตระหว่างถ่ายทำภาพยนต์เรื่องอินทรีทอง ที่ดังมากพ่อเคยพาแม่ไปดูที่โรงหนังสุริยา วงเวียนใหญ่ ครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตได้มั้ง  แม่(ชาวสวีเดน)ดูไปก็บ่นไปโรงหนังอะไรหว่ากว่าจะเดินไปถึงต้องเดินเข้าไปในศูนย์การค้าแถมเดินขึ้นไปชั้นสามอีก บ่นเรื่อยเปื่อยว่า บ้ารึเปล่าทำโรงหนังแบบนี้คิดไม่ถึงว่าผ่านไปโรงหนังโรงไหนไม่ต้องขึ้นบันไดไปหลายๆชั้นและไม่อยู่ในศูนย์การค้า ถือว่า เชยสุดสุด  เวลาต่อมาท่านมุ้ยได้ทำหนังใหม่ๆออกมามีหนังเรื่องเลยแหละ ที่ดังๆก็มันมากับความมืดที่มีดาราหน้าตาแปลกๆชื่อ สรพงษ์ ชาตรี สมัยนั้นหนังท่านมุ้ยส่วนใหญ่จะฉายที่โรงหนังเฉลิมเขตร ์ใครไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน ก็จะบอกให้ว่าอยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลหัวเฉียวแล้วก็เริ่มรู้จักกับโรงหนังประเภทชั้นหนึ่งมากขึ้น สมัยนั้นหนังแต่ละเรื่องจะยึดโรงฉายกันแค่โรงเดียวหรือสองโรง ไม่ค่อยมากไปกว่านั้นฉายทีก็ฉาย นานเป็นเดือนๆ มีค่ายหลักๆอยู่สามค่ายคือ สยามมโหรสพ เจ้าของโรงหนังอย่าง เฉลิมไทย สยาม ลิโด สกาล่า สามย่าน เป็นโรงหนังของตระกูลตันสัจจา ค่ายอันดับสองคือ ค่ายฮอลลีวู้ด มีโรงในเครือคือ โคลีเซียม ฮอลลีวู้ด พาราเมาท์ 74 ปารีส อันนี้ของตระกูลกิตติพราภรณ์ และค่ายเพชรรามา ของกลุ่มพูนวรลักษณ์ซึ่งมีโรงกระจายทั่วไปอย่าง เพชรรามา เซนจูรี แมคเคนน่า วอร์เนอร์และบรรดาโรงหนังชั้นสองอีกสารพัดกลุ่ม โรงหนังที่ฉายหนังไทยเป็นหลักคือโรงหนังเฉลิมไทยที่ดัดแปลงมาจากโรงละครให้เป็นโรงหนังแทน เนื่องจากละครเวทีเสื่อมความนิยมลง หนังของใครได้ฉายที่เฉลิมไทยถือได้ว่าเป็นหนังเกรดเอ เจ้าประจำที่นี่คือดอกดินเจ้าของฉายาล้านทุกเรื่อง แล้วจะมีหนังมาฉายที่เฉลิมไทยทุกปี ส่วนโรงหนังที่ตั้งอยู่ย่านสยามแสควร์อย่าง สยาม ลิโด สกาล่า จะเน้นฉายหนังฝรั่งที่ซื้อเข้ามาเองเป็นหลักโรงหนังค่ายของเครือฮอลลีวู้ด มีโรงหนังที่ฉายหนังไทยแข่งกับเฉลิมไทยอย่างพอฟัดพอเหวี่ยงก็คือ โคลีเซียม โรงหนังปารีสสะพานขาวสมัยนั้นฉายแต่หนังฝรั่งเกรดดีดีมีคุณภาพให้ได้ดูกัน เช่น  The Godfather , EarthQuake ก็ฉายที่นี่ค่ะ ตอนนั้นคนไทยตื่นเต้นมากที่ได้ดูหนังเรื่องโลกแตก(EarthQuake) เพราะมีระบบเสียงแบบใหม่เซนเซอร์ราวน์ ที่ติดตั้งซัพวูเฟอร์เป็นพิเศษตอนเกิดแผ่นดินไหว ซัพวูเฟอร์ ก็จะดัง ทำให้เรารู้สึกเหมือนเกิดแผ่นดินไหวในโรงหนังหนังน่ารักๆของวอลท์ ดิสนีย์ก็จะฉายที่โรงหนังฮอลลีวู้ดที่เดียว สมัยเด็กๆโรงหนังนี้คือโรงหนังที่โปรดปรานประจำตัว เพราะมีหนังการ์ตูนดีดีมาฉายบ่อยๆ ส่วนโรงในเครือพูนวรลักษณ์ถือว่าเป็นโรงหนังเกรดต่ำ โรงหนังจะฉายแต่หนังเกรดรองๆลงมา อย่างหนังจีนกำลังภายใน หนังไทยบู๊ชนบทประเภทตอนจบพระเอกจะออกมาเปิดเผยตัวเองว่าผมคือร้อยตำรวจเอก อะไรทำนองนั้น  ค่ายอีกค่ายก็คือค่ายรามา เจ้าของโรงหนังอย่าง โอเดียน รามา สิริรามา ซึ่งเน้นแต่หนังของชอว์บราเดอร์ แล้วนอกนั้นก็เป็นโรงหนังอิสระอย่าง เฉลิมกรุง เฉลิมเขตร์ กรุงเกษม คาเธ่ย์ ควีนส์ ที่เน้นแต่หนังอินเดียอย่างเดียว

อยู่มาวันหนึ่งเมื่อตระกูลกิตติพราภรณ์เกิดเบื่อการทำโรงหนังขึ้นมา อยากทำสวนสนุกมากกว่า ก็เลยไปรวมตัวกับค่ายสยามค่ายอันดับหนึ่ง เพื่อหวังที่จะทำการโมโนโปลี(ถ้าใครงงว่าเขารวมกันทำไมก็ลองนึกกรณีเซ็นทรัลกับโรบินสันเป็นตัวอย่าง) การรวมตัวกันครั้งนี้ ทำให้โรงหนังเดิมในเครือของกิตติพราภรณ์ ตกต่ำลงทั้งหมด รวมกันได้ไม่นานเกิดกรณีขึ้นภาษีภาพยนต์ต่างประเทศขึ้นมา ทำให้สถานการณ์ของการฉายหนังในเมืองไทย เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การขึ้นภาษีภาพยนต์ต่างประเทศ ทำให้ค่ายเมเจอร์ของฮอลลีวู้ด งอนไม่ยอมส่งหนังเข้ามาฉายในเมืองไทย ดังนั้น จึงเกิดการขาดแคลนภาพยนต์ฝรั่งอย่างหนัก หนังที่หลุดเข้ามาฉายจะเป็นหนังเกรดบีเป็นส่วนมาก ทำให้เกิดเหตุการณ์ยุคทองของหนังไทยขึ้นมาค่ะ  บริษัทใหญ่ๆเริ่มตั้งตัวเองได้และมีสตูดิโอของตัวเองด้วย ออกเงินให้คนสร้างหนังสตูดิโอใหญ่ๆที่เกิดขึ้นสมัยนั้นคือสหมงคลฟิล์มของเสี่ยเจียง กับไฟว์สตาร์ ของเกียรติ เอี่ยมพึ่งพร แล้วก็ค่ายเอแพกซ์ของกลุ่มสยาม แล้วก็ทำหนังไทยอิสระอีกมากมาย หนังไทยของสหมงคลประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อหนังเรื่อง แผลเก่า สร้างประวัติศาสตร์รายได้ถึงสิบสามล้านบาทคิดเป็นเงินสมัยนี้ก็คงกว่าร้อยล้าน แล้วเสี่ยเจียงก็เลยสร้างค่ายโรงหนังของตัวเองขึ้นมา คือโรงหนังเพรสิเดนท์ ค่ายไฟว์สตาร์ซื้อโรงหนังเอเธนส์มาฉายหนังของตัวเองเป็นหลัก ไฟว์สตาร์มาประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่หนังค่ายสหมงคลกลับค่อยๆลดน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่เอแพกซ์ก็มีแต่หนังหวานๆสไตล์ท่านทิพย์ในที่สุด จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของภาพยนต์ไทยก็เกิดขึ้น เมื่อจารุณี สุขสวัสดิ์ได้ไปเล่นหนังเรื่องบ้านทรายทองให้ไฟว์สตาร์ จากนั้นมา ภาพยนต์ไทยก็เข้าสู่ยุคใหม่คือยุคจารุณี ยุคจารุณีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้น ก็คือ ภาพยนต์ทำเงินมีอยู่สูตรเดียวคือหนังเรื่องนั้นต้องจารุณีเป็นนางเอก สไตล์สำคัญของนางเอกในยุคนี้ก็คือความห้าวแก่นแก้วเป็นที่ตั้ง ทางกลุ่มของคุณนายแดงพยายามสร้างนางเอกสามใบเถาออกมาสู้ นั่นก็คือเนาวรัตน์ สุพรรณษา อำภา แต่สามรุมหนึ่งก็ทำอะไรจารุณีคนเดียวไม่ได้ เหตุการณ์กลับตาละปัดอีกอย่างคือหนังจารุณีมักจะสร้างโดยไพจิตร ศุภวารี และฉายในโรงหนังเพชรรามาเป็นหลัก ทำให้โรงหนังทำเงินในยุคนี้้กลายเป็นโรงหนังเพชรรามาของเครือพูนวรลักษณ์ โรงหนังชั้นนำของภาพยนต์ไทยในอดีตอย่างเฉลิมไทย เฉลิมกรุงและโคลีเซี่ยมแทบจะกลายเป็นโรงหนังร้างเลยค่ะ โรงหนังปารีสพอไม่มีหนังฝรั่งดีๆมาฉายก็กลับกลายเป็นโรงหนังชั้นสอง แต่ก็มีคลื่นลูกใหม่เกิดขึ้นมาคือค่ายนนทนันท์ที่เอาหนังจีนฮ่องกงเข้ามาฉาย เริ่มจากหนังเรื่องเก่งกับเฮงเอามาฉายที่เฉลิมไทยที่ต้องยอมลดศักดิ์ศรีของตัวเอง เอาภาพยนต์ต่างชาติเข้ามาฉาย และหนังจีนของนนทนันท์เริ่มประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆและกลับดังแบบทะลุฟ้าเมื่อเกิดซูเปอร์สตาร์คนใหม่ชื่อเฉินหลงขึ้นมา

ในที่สุดเมื่อฝรั่งหายงอน เริ่มส่งหนังเข้าชิมลางในรอบการกุศลสองเรื่องนั่นก็คือ Starwars กับ The Spy who love me เข้ามาลองฉาย แล้วเมื่อพบว่าคนไทยที่โดนปิดหูปิดตามานาน ให้ความต้อนรับอย่างดีเยี่ยมก็ได้รวมตัวกันสร้างบริษัทจัดฉายหนัง เรียกว่าเครือเมเจอร์ มีหน้าที่จัดฉายหนังฝรั่งจากฮอลลีวู้ดโดยเฉพาะ ในขณะเดียวกันคนไทยก็เริ่มอิ่มตัวกับหนังจารุณีและเริ่มยอมรับหนังหลากหลายแนวมากขึ้น ในตอนนี้เองก็เริ่มเกิดบริษัทผู้สร้างหนังไทยคลื่นลูกใหม่ขึ้นมา นั่นก็คือ บริษัท ไท เอนเตอร์เทนเมนต์ ของทายาทตระกูลพูนวรลักษณ์ที่ได้ไปร่ำเรียนเมืองนอกเมืองนามา คุณวิสูตร พูนวรลักษณ์ นายทุนผู้มีไอเดียประหลาดไปให้โอกาสผู้กำกับหน้าใหม่ที่ไม่เคยกำกับหนัง เคยทำแต่เขียนโปสเตอร์หนังสองคนที่ชื่ออังเคิล และ ปื๊ด แถมยังแหกกฏอย่างหนัก ที่ไปเอาดาราโนเนมอย่าง บิลลี่ โอแกน สุรศักดิ์ วงศ์ไทย และ เพ็ญ พิสุทธิ์ มาเล่นหนัง และอีกอย่างที่หนังเรื่องนี้ไม่ฉายในโรงหนังของเครือพูนวรลักษณ์ !!!!!! กลับไปฉายใ  นค่ายเอแพกซ์ในโรงหนังสยาม นัยว่าคงอยากสร้างอิมเมจให้กับหนัง และอีกอย่างโรงหนังในเครือเพชรรามาที่เต็มไปด้วยหนังจารุณีของไพจิตร ศุภวารี ไม่มีคิวให้แทรก ปรากฏว่าหนังทำทำรายได้ขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ  สร้างตำนานบทใหม่ว่าได้เกิด สตูดิโอสร้างหนังอิสระแนวคิดแบบอินเตอร์ขึ้นมาในเมืองไทย ในช่วงนี้มีเรื่องวุ่นวายเกิดขึ้นในวงการค่ายหนัง เมื่อเกียรติ เอี่ยมพึ่งพร เจ้าของไฟว์สตาร์ถูกลอบสังหาร ค่ายเอแพกซ์หุ้นส่วนเจ้าพ่อคือ โส ธนวิสุทธิ์ เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น เสี่ยโต้ง กำพล ตันสัจจา หุ้นส่วนใหญ่ก็มีปัญหาชีวิตกับภรรยาที่เป็นนางเอกดัง เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ถึงขั้นหย่าร้างเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ คุณนันทา ตันสัจจาก็หายตัวลึกลับ ในที่สุดก็พบว่าไปเสียชีวิตอยู่ในป่าช่วงนี้เองที่หนังจีนค่ายนนทนันท์และหนังฝรั่งเครือเมเจอร์เริ่มมีบทบาทมากขึ้น เครือเมเจอร์แยกเป็นสองค่ายคือค่ายเมเจอร์ที่จัดจำหน่ายหนังของฟอกซ์ วอร์เนอร์ โคลัมเบีย อีกกลุ่มคือบริษัทยูไอพี เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ยูนิเวอร์แซลเอ็มจีเอ็ม พาราเมาท์ ส่วนค่ายอิสระคือโอไรออนจะผูกปีกับเอแพกซ์นอกนั้นก็มีค่ายโอเอ ที่มักจะนำหนังฝรั่งนอกกระแสเข้ามาฉายอยู่เรื่อๆ เหมือนกันค่ะ ในช่วงนี้เองที่กลุ่มกิตติพราภรณ์ เริ่มรู้สึกว่าอยากเลิกธุรกิจโรงหนังก็แยกตัวออกมา แล้วทุบโรงหนังชื่อดังในอดีตอย่างฮอลลีวู้ดและโคลีเซียมทิ้ง กลุ่มเอี่ยมพึ่งพร มาจับมือกับค่ายเมเจอร์สามารถปลุกโรงหนังร้างๆอย่างแมคเคนน่าให้กลายเป็นโรงหนังที่แฟนหนังฝรั่งต้องไปดูเป็นประจำ ค่ายหนังไทยที่ปรับตัวได้ค่อนข้างดีก็คือไฟว์สตาร์ที่กว้านเอาผู้กำกับมีฝีมือไปประจำค่ายหลายท่าน อย่าง ยุทธนา มุกดาสนิทบัณฑิต ฤทธิ์ถกล , แจ๊ส สยาม , รุจน์ รณภพ , เปี๊ยก โปสเตอร์ไปเข้าค่าย หนังเรื่องที่ทำให้ไฟว์สตาร์เป็นที่ยอมรับในวงกว้างก็คือ น้ำพุ ของยุทธนา มุกดาสนิทซึ่งหลังจากนี้ได้ทำหนังดีๆและได้เงินอีกหลายเรื่องเช่น ผีเสื้อและดอกไม้ , หลังคาแดง บัณฑิต ฤทธิ์ถกล หลังจากสร้างหนังดีแต่ไม่มีคนดูอย่างด้วยเกล้าให้ไฟว์สตาร์ แล้วก็สร้างหนังชุดทำเงินเรื่องดังขึ้นมาคือบุญชู ผู้น่ารัก ซึ้งกลายเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดและสามารถลบสถิติตัวเองได้ทุกครั้งในภาคต่อมา  ช่วงนี้ไฟว์สตาร์ถือว่าเป็นเสาหลักของภาพยนต์ไทย โรงหนังขนาดยักษ์คือโรงเอเธนส์ยังมีค่ายหนังเล็กๆอีกค่ายคือค่ายโอเอ ที่มักจะไปหาหนังฝรั่งเล็กๆฟอร์มดีเข้ามาฉายอยู่เสมอ หนังฝรั่งช่วงแรกๆจะจับกลุ่มเป้าหมายกับพวกปัญญาชนที่ชอบไปเดินเล่นแถวสยามสแควร์เป็นส่วนใหญ่ค่ะ ส่วนคนกลุ่มอื่นๆจะดูภาพยนต์ไทยกันเป็นหลัก แต่เหตุการณ์ผันแปรก็เกิดขึ้น เมื่อหนังเรื่อง วิลโลว์ สามารถสร้างความประทับใจให้กับคนทุกรุ่นทุกวัย หนังอย่าง Ghost สร้าง ประวัติศาสตร์ยืนโรงฉายที่สกาลาได้นานกว่าสี่ห้าเดือน ทำให้คนไทยเป็นโรค Ghost fever กันถ้วนหน้า สาวๆสมัยนั้นมีผมทรงฮิต คือบ๊อบ ผมสั้น โชว์ต้นคอของเดมี่ มัวร์ในหนังเรื่องนี้ ส่วนหนังฮิตอีกเรื่องคือ เพรตตี้ วูแมน ที่ทำให้ใครๆติดใจกับยิ้มปากกว้างของ จูเลีย โรเบิร์ต กันเป็นแถวเลย และแล้วก็มาถึงจุดสำคัญที่ไม่เคยมีใครคาดคิด เมื่อหนังฝรั่งได้ทำประวัติศาสตร์ เป็นหนังทำเงินสูงสุดได้เป็นครั้งแรก เมื่อเสี่ยเจียงทุ่มทุนไปซื้อหนังเรื่อง Terminator II มา แล้วลงทุนโปรโมตอย่างเต็มพิกัด ประกอบกับหนังเรื่องนี้สร้างความตื่นตาตื่นใจในด้านเทคนิคพิเศษอย่างที่ใครๆก็ไม่คาดคิด และดำเนินเรื่องได้อย่างสนุกสนานน่าประทับใจไปพร้อมๆกันจากนั้นเอง ความนิยมหนังฝรั่งก็ข้ามกลุ่มจากกลุ่มนักศึกษาเข้ามาสู่กลุ่มของคนดูหนังทั่วไปพร้อมๆกับการเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ทำให้คนไทยมีเงินมากขึ้น และมีรสนิยมสูงขึ้น หนังฝรั่งจึงได้ผงาดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บันทึกความจำไว้หน่อยว่าผู้กำกับหนังเรื่องTerminator II นั้นก็คือ เจมส์ คาเมรอน เจ้าเก่าที่โด่งดังมาก ในขณะนี้เองเมื่อหนังฝรั่งประกาศศักดาพิชิต หนังไทย หนังจีน จนราบคาบ ก็ได้เป็นการเปิดศักราชใหม่ของธุรกิจโรงภาพยนตร์ในเมืองไทย

เพราะก่อนหน้านั้นเป็นยุคที่คนเริ่มเปลี่ยนแนวทางการดำเนินชีวิต จากที่เคยใช้การดูหนังเป็นการพักผ่อนหย่อนใจของครอบครัวในวันสุดสัปดาห์ วิถีชีวิตใหม่ๆของคนไทย คือการเดินเข้าไปตากแอร์ในศูนย์การค้า โรงหนังมากมายได้ทยอยปิดตัวลงและทุบทิ้ง โรงหนังเฉลิมไทยโดนทุบเพื่อสร้างทัศนียภาพแก่โลหะปราสาท เฉลิมไทยเป็นคล้ายๆกับสัญญลักษณ์แห่งภาพยนตร์ไทย การถูกทุบทิ้งเป็นการแสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของความตกต่ำของภาพยนต์ไทย โรงหนังเก่าแก่อย่างเฉลิมกรุงก็ถูกปรับปรุงใหม่และจะเน้นไปใช้ในการแสดงต่างๆมากกว่าที่จะใช้เป็นโรงหนัง  โคลีเซี่ยม โรงหนังเกรดเอ ก็กลายเป็นโรงหนังชั้นสอง ก่อนถูกทุบทิ้งเช่นเดียวกับเฉลิมไทย บ้านหนังไทยหลังใหม่กลับไปถือกำเนิดที่โรงภาพยนตร์เอเธนส์ของค่ายไฟว์สตาร์ แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อเจ้าของโรงหนังพบว่าในเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ดินใจกลางเมืองมีค่าต่อการเป็นคอนโดให้คนรวยอยู่มากกว่าจะเป็นโรงหนังไทยที่เปิดรับผู้คนทุกเพศทุกวัยในราคาหัวละไม่กี่สิบบาท หลังจากโรงเอเธนส์ถูกทุบทิ้งก็แทบจะไม่เหลือโรงหนังขนาดใหญ่ สำหรับคนดูหนังไทยอีกแล้ว  ค่ายหนังไทยอย่างไฟว์สตาร์ก็เริ่มนโยบายใหม่คือไปสร้างโรงหนังเล็กๆตามศูนย์การค้าในแถบชานเมือง  นี่คือจุดต้นกำเนิดของโรงหนังมินิเธียร์เตอร์  อันที่จริงแล้วมินิเธียเตอร์ที่เอมรู้จักครั้งแรกอยู่ที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง โรงเมเจอร์ 1 และ 2 ที่ฉายแต่หนังฝรั่งของเครือเมเจอร์ เนื่องจากต้องการดึงลูกค้ากลุ่มที่ต้องการดูหนังมาจากคู่แข่งฝั่งตรงข้าม นั่นก็คือสยามสแควร์ ปรากฏว่าผู้ชมต่างให้การสนับสนุนโรงหนังมินิเธียร์เตอร์อย่างล้นหลาม ทั้งๆที่คุณภาพของโรงหนังแย่มาก หลังคาก็เตี้ย จอก็เล็กนิดเดียวนั่งหลังสุดแทบจะมองไม่เห็น ความลาดชันก็น้อย นั่งเอาหัวบังกันเกือบทุกคนแต่คนดูหนังในยุคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคู่หนุ่มสาวที่บางครั้งไม่ได้อยากได้บรรยากาศในการดูหนัง ต้องการที่เงียบๆมืดๆมานั่งจู๋จี๋กันมากกว่าเมื่อคนมานิยมโรงหนังห่วยๆ แต่อยู่ในที่ที่คนเดินเยอะๆ ทางนายทุนก็ตอบสนองด้วยการสร้างโรงหนังประเภทนี้เต็มไปหมด โดยไม่สนใจว่าได้มีการออกแบบให้เหมาะสมกับการสร้างโรงหนังรึเปล่า และเมื่อเกิดปรากฏการณ์จูราสสิกปาร์คขึ้น ก็ได้พบว่าโรงหนังในบ้านเรานั้น ไม่พอที่จะฉายหนังเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว โรงหนังทุกโรงหนังและทุกค่ายทุกเครือเปิดฉายหนังเรื่องนี้แต่ว่า ไม่เพียงพอต่อคนที่มารอซื้อตั๋ว ทำให้กลุ่มนายทุนที่มองการณ์ไกลจึงคิดขึ้นมาว่าทำมั้ยไม่ออกแบบหรือสร้างโรงหนังดีๆในศูนย์การค้าใหม่ๆไปซะเลย เอาแบบสามารถฉายหนังได้เยอะๆในที่เดียวกันให้ เพื่อให้คนเลือกหรือถ้าหนังเรื่องไหนคนแห่ไปดูกันมากก็สามารถเปิดฉายมันซะทุกโรงเลยก็ได้ หารายได้พิเศษจากการขายของกินที่ราคาแพงหูฉี่ มีโปรโมชั่นพิเศษพร้อมกับบัตรไฮเทคให้คนรุ่นใหม่ได้เท่ได้เก๋ ทำระบบเสียงดีดีให้คนตื่นตาตื่นใจและเลิกคิดที่จะรอเช่าวิดีโอมาดูที่บ้าน เมื่อคิดกันขึ้นมาได้อย่างนี้ ก็เลยทำให้เกิดยุคใหม่ เจนเนอเรชั่นต่อไปของโรงหนัง นั่นก็คือ โรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ นั่นเองค่ะ..

 

โปรแกรมทองของโคลีเซี่ยม..มนต์รักลูกทุ่ง เข้าฉาย 15 พฤษภาคม 2513 ใช้เวลา 121 วันทำรายได้ 6 ล้านบาท จากการฉายแค่โรงเดียว

 

โอเอ โรงดัง..ย่าน มักกะสัน ข้างทางรถไฟ ฉายหนังฝรั่งเป็นหลัก

 

ในขณะที่โรงอื่นตั้งชื่อเมืองในยุโรป โรงนี้ไม่คิดมาก..กรุงเทพรามา

 

วงเวียนใหญ่ราม่า..ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็นฮาวาย เป็นโรงชั้น 2 ส่วนมากเป็นหนังฝรั่งควบดังๆที่พอออกจากโรงชั้นหนึ่งปุ๊บก็จะถูกนำมาฉายที่นี่ทันที 2 เรื่องควบ 

 

นิวยอร์ค..เป๋ อกไก่ เคยข่มขืนฆ่านักศึกษารามคำแหงในห้องน้ำ! ปี 2525 เป็นครั้งแรกครั้งเดียวของเมืองไทยที่มีข่าว "ข่มขืนแล้วฆ่า" ในโรงหนัง ...และโรงหนังได้ปิดตัวไปนานแล้วค่ะ

 

บางแครามา..โรงชั้น 2 ที่เคยฉายถึง 5 เรื่องควบ

 

ธนบุรีรามา..ใกล้แยกบรมราชชนนี หรือ แยก 35 โบล์เดิม ดูภาพขวา..ยืนหยัดถึงยุคแฮร์รี่ พอตเตอร์ เลยทีเดียว

 

บรอดเวย์..บนถนนเจริญกรุง ใกล้แยกหมอมี โรงหนังนี้แหละที่เขาดูหนังปลุกใจเสือป่ากัน 

 

แม็คเคนน่า..เชิงสะพานหัวช้าง ตอนยังเรียนอยู่วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้าเคยไปดูบ่อยๆ เพราะยังมี 2 แถวหน้าราคา 20 บาท

 

นนทบุรีราม่า..ขึ้นชื่อสุดๆเรื่องฉายหนังวาบหวิว!

 

เมโทร..อยู่ปากซอยเพชรบุรี 13 ฉายหนังฝรั่งพากษ์ไทย

 

สุริยาเธียเตอร์..ฉายหนังฝรั่งควบ ขณะที่วงเวียนใหญ่ราม่าฉายหนังจีน เฉลิมเกียรติฉายหนังไทย และไทยรามาฉายทั้งจีนทั้งไทย แต่ตอนนี้ฉายหนังอะไรหว่า..ฝรั่งควบญี่ปุ่น ควบจีน..ควบกันทั้งวัน!!

 

เฉลิมเขตร์..รูปนี้ถ่ายโดยคุณแท้ ประกาศวุฒิสาร ศิลปินแห่งชาติ

 

พาต้า ชื่อโรงหนังเดียวกันกับกรุงเทพ..แต่อยู่ที่ยะลา ...ภาพถ่ายปี 2532

 

ศาลาเฉลิมบุรี..ฉายสุภาพบุรุษเสือไทย ปี 2492

 

เฉลิมไทย..ฉายเรื่องปาหนัน หนังของคุณแท้ ประกาศวุฒิสาร ปี 2501

 

ภาพที่เห็นนี้เป็นการโฆษณาภาพยนต์ไทยแบบติดตั้งกลางแจ้ง เรื่องแก้วสารพัดนึก ที่เห็นชัดๆคือคุณ สมบัติ เมทะนีกับคุณ อรัญญา นามวงศ์ และคุณ ประจวบ ฤกษ์ยามดี เป็น คัทเอาท์กลางแจ้ง ขนาดตึก 2 ชั้น แต่เสียดายเอมไม่ทราบว่าตั้งอยู่ถนน หรือ สถานที่ใด แต่ภาพนี้น่าจะมีอายุมากกว่า 30-40 ปีขึ้นไปแน่นอน

2 ภาพเล็กๆ ซ้าย ขวา คือภาพเบื้องหลัง ศิลปิน ที่รังสรรค์งาน วาดรูปคัทเอาท์ให้เราชมครับ งาน handmade ฮะ solo กันสดๆเห็นๆ เก่งมากๆ

 

ศาลาเฉลิมไทย กำลังฉาย ...ไม่ใช่หนัง แต่ดูเหมือนจะเป็น ข่าว สารคดีเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 ปี 2509 หน้าโรงหนังคนล้นหลามเลย รถยนต์สมัยโน้น ที่เห็นหน้าโรงเป็นพวก นิสสัน บลูเบิรด์ ทุกวันนี้ น่าจะเอาไปปลูกสาระแหน่กันหมดแล้ว ^^

โรงหนังสมัยก่อนไม่ได้ฉายแต่หนังอย่างเดียวนะ รายการมวยคู่ดังสมัยก่อน เช่น แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ " ไอ้แสบ" พอต่อยชนะ ก็เคยเอามาฉาย รีรัน ให้คนดูใหม่อีกรอบก็ยังมีเลย ส่วนในภาพที่เด่นอยู่ตรงกลางก็คือนักกีฬาหนุ่ม 4 เหรียญทอง คุณปรีดา จุลละมณฑล 

 

โรงภาพยนต์เอ็มไพร์ ถ่ายจากอีกมุมหนึ่ง เห็นรถสามล้อ หน้ากบ ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว สูญหายไปจากท้องถนนในกรุงเทพฯตั้งแต่เมื่อไหร่ เอมก็จำไม่ได้ค่ะ เพราะมันนานมากแล้ว  สามล้อหน้ากบ รูปร่างน่ารัก มีสิ่งที่พิเศษกว่าสามล้อปัจจุบัน ซึ่งทำไม่ได้คือ ผู้โดยสารสามารถนั่งคู่กับคนขับได้ด้วยนะ

 

รูปแรก เป็นโรงภาพยนต์เอ็มไพร์ อยู่ที่ปากคลองตลาด ถ้าลงมาจากสะพานพุทธเก่าเลี้ยวซ้าย ไปปากคลองก็เจอพอดี ภาพที่เห็น เป็นปี 2501 กำลังฉาย ภาพยนต์ไทย เรื่อง เห่าดง นับมาถึงวันนี้ 2555 ก็ 54 ปี... เท่าที่ทราบประวัติ ข้อมูลจากในรูป เป็นวันเปิดฉายวันแรกๆในรอบ ( กาล่าร์ พรีเมียร์ แต่ชาวบ้านสมัยก่อน มันพูดยาก เลยออกเสียงเป็น กะลาตีเมียซะงั้น ^^ ) คนดูล้นหลามทีเดียวค่ะ...

 

ภาพคัทเอาท์รูปนางเอกสวยงามมาก ใหญ่ขนาดเกือบตึก 2 ชั้น จากเรื่องบัญญัต 10 ประการ ของ Cecil b. Demille...สถานที่น่าจะเป็นโรงหนังศาลาเฉลิมไทย

 


โรงภาพยนต์เอ็มไพร์ กำลังฉายหนังไทย เรื่องเจ้าหญิง ป้ายคัทเอาท์ขนาดตึก 2 ชั้นสมัยก่อน มีมานมนานแล้ว ..รถแท๊กซี่ที่เห็น เป็นรถ รุ่น bluebird ฮิตมากสมัย 30-40 ปีก่อน คันเล็กๆไม่ใหญ่เท่าไหร่ ตอนนั้น limo ยังไม่เกิด

 

โรงหนังสกาล่า กำลังฉายภาพยนต์ไทย เรื่องวิมานสลัมอยู่ รูปสาวหน้าสกาลา คือ คุณดวงดาว จารุจินดา หนังวิมานสลัม สร้างโดยคุณสักกะ จารุจินดา คุณพ่อของคุณดวงดาว ภาพที่เห็นมัน 20 - 30 กว่าปีแล้วจ้า สมัยนั้น ทัศนียภาพต่างกับปัจจุบันลิบลับ ศูนย์การค้าแถวนั้น ทั้ง mbk อะไรสงสัยยังไม่เกิด ! รถไฟฟ้งไฟฟ้าอะไรไม่มีทั้งนั้น ชีวิตสุโข เพราะรถมันไม่ติดอย่างปัจจุบัน !!!!

 

โรงภาพยนต์ต่อไปนี้ค่อนข้างใหม่ กว่าพวก เอ็มไพร์ เฉลิมกรุง เฉลิมบุรี น่าจะเป็นยุคปลาย 70 หรือ ต้น 80 นี่แหละ คือ โรงภาพยนต์โคลีเซี่ยม
ที่ถือเป็นโรงภาพยนต์ชั้นหนึ่งในสมัยก่อน นิยมฉายแต่หนังฝรั่ง เคยได้ไปดูหลายครั้งอยู่ อยู่ตรงใกล้ๆโรงพยาบาลมิชชั่นนั้นแหละ เลี้ยงทางด่วนลงมาก็เจอแล้ว ปัจจุบันได้ปิดกิจการไปเรียบร้อยแล้วค่ะ..โรงหนังโคลีเซียม ตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะตรงโรงหนังในปัจจุบันคือ ทางขึ้นทางด่วน ด่านยมราช นั่นเอง

 

โรงภาพยนต์ที่จะเห็นต่อไปนี้ อยู่ในยุค 2499 หรือยุคโก๋หลังวัง วังที่ว่าคือ วังบูรพา นี่คือ โรงภาพยนต์ คิงส์ ที่อยู่ที่วังบูรพา อยู่ตรงสี่แยก ใกล้ๆ สะพานเหล็ก  ตรงข้ามเยื้องๆ ซ้ายมือ ณ ปัจจุบันกลายเป็นร้าน kfc

ปัจจุบัน รื้อไปนานมากๆแล้ว แต่คำว่า คิงส์ ยังหลงเหลืออยู่ค่ะ แต่ตัวโรงหนังถูกรื้อไปสร้างศูนย์การค้า.....
ในภาพกำลังฉายหนังฝรั่ง เรื่องวัยรักวัยเรียน..

ย่านวังบูรพา เป็นย่านที่ ไฮโซ ตลอดจน วัยรุ่นหญิงชาย จิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋ ออร์เหลน ฮิปโป้ ฮิปปี้ ฯลฯ นิยมไปสังสรรค์กันแถวๆนั้น เพื่อชมภาพยนต์ หาร้านไอติมกิน หรือดูเสร็จไปกินกาแฟกันต่อที่ร้าน ออนล๊อคหยุ่น ( ร้านนี้ยังอยู่   ส่วนรอบๆบริเวณนั้น ถูกรื้อทิ้ง สร้างศูนย์การค้า คือ ดิโอลสยามในปัจจุบัน ) เปรียบเทียบกับปัจจุบัน ย่านวังบูรพา หน้าจะเทียบเท่า mbk หรือ เซนเตอร์พอยย์ หรือ พาราก้อนอะไรประมาณนั้นแหละ
โรงหนังคิงส์ จำได้คลับคล้ายว่า นิยมฉายหนังวัยรุ่น จากค่ายหนังต่างประเทศ พวก เอลวิส คลิฟริชาร์ด หรือไงนี่แหละ
ปัจจุบัน วัยรุ่นยุคโก๋หลังวัง ถ้ายังอยู่ ก็น่าจะเป็นคุณ ปู่ กันไปหมดแล้ว

 

โรงภาพยนตร์ต่อไปนี้ อยู่ในยุคโก๋หลังวังเช่นกัน อยู่ติดๆกับคิงส์เลย คือโรงภาพยนต์แกรนด์ ปัจจุบันก็เป็น เมอรรี่คิงส์นั่นเอง
ในภาพกำลังฉายหนังฝรั่ง ที่หน้าจะเป็นเรื่องขุนโจรจ้าวทะเล เนื้อเรื่องคงจะคล้ายๆไพเรทออฟคาริเบี้ยนยุคปัจจุบัน 

มีข้อสังเกตุอีกอย่างหนึ่ง สำหรับชื่อโรงหนัง เพราะใช้คำว่า บริษัท แกรนด์ จำกัด ซึ่งค่อนข้างแปลกดี ในภาพจะเห็นรถเก๋งรุ่นคุณปู่ คุณพ่อจอดอยู่ระเกะระกะ ซึ่งแสดงว่า ถนนมีการจราจรที่โล่ง ไม่คับคั่ง ซึ่งปัจจุบันนี้ ถนนเส้นที่ว่า รถติดมหากาฬเลย คือติดสะสมกันมาตั้งแต่ ฝั่งธน สะพานพระปกเกล้า ติดมายันพาหุรัด ถึงตรงหน้าแกรนด์ที่ว่า ติดหนึบไปยัน สี่แยกที่จะเลี้ยวไปถนนเจริญกรุง 

 

รูปนี้เป็นรูปโรงภาพยนต์แห่งแรกที่เป็นอินเตอร์สำหรับประเทศไทย มีระบบเครื่องปรับอากาศ สร้างในสมัย ร.7 ครับ คือโรงหนังศาลาเฉลิมกรุง ....... ที่สามารถอยู่รอดได้ถึงปัจจุบัน ไม่ถูกรื้อ เลิกกิจการไป รอบๆบริเวณมีเปลี่ยนแปลง รื้อ สร้างใหม่ อะไรไปเกือบหมดแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังเปิดบริการอยู่
ในภาพกำลังฉายหนังไทยเรื่อง เมืองแม่หม้าย ป้ายบอกชัดเลย นำแสดงโดยคุณ สมบัติ และ คุณอรัญญา เห็นรถ folk เต่า ด้วย ปัจจุบัน folk เต่าเป็นรถ คลาสสิคไปแล้ว มีชมรม มีคนเสาะหา เก็บสะสม ราคาแพงด้วยสิ

 

โรงภาพยนต์โอเดียน... อยู่ที่ทางไปถนนเยาวราช สมัยก่อนเคยมีวงเวียนน้ำพุอยู่ข้างหน้าโรงภาพยนต์ที่สวยงามมากๆ ต่อมารื้อทิ้งไปสร้างเป็นซุ้มประตูมิตรภาพ ไทย จีน

ตัวโรงภาพยนต์ปัจจุบัน กลายเป็นร้านค้าและก็ที่จอดรถ
โรงภาพยนต์นี้ พ่อไปดูบ่อยมาก พอๆกับ เทียนกัวเทียน เพราะตอนนั้นพ่อคลั่งหนังจีน พวก หวังอยู่ เดชไอ้ด้วน หนังชอว์บราเดอร์ ซึ่งยุคหลังๆก่อนปิดกิจการจะฉายแต่หนังจีน
เป็นโรงภาพยนต์เก่าแก่มากๆ ดูจากรูป ตอนนั้นฉายหนังฝรั่ง prince of foxes ชื่อไทย ขุนพลใจสิงห์ แสดงโดย พระเอกยุคหนังเงียบ ไทโรน พาวเวอร์ เห็นปีที่ฉายแล้ว ขนลุก 2493 !!!!!!  58 ปี เก่ามากๆ  เท่าที่ค้นจากในเน็ต หนังเรื่องนี้ ในขณะนั้นหน้าจะฉายหลายโรง ไม่ใช่ที่เฉพาะโอเดียนแห่งเดียว โอเดียนปิดกิจการไปประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้เองค่ะ

 

ลิโด้ ในยุคที่สะอาดเกลี้ยงเกลามากๆ เพราะไม่มีรถไฟฟ้ามาบดบังทัศนียภาพ กำลังฉายหนังฝรั่ง guns for sin sebastian ถนนโล่งมาก รถไม่มีติด

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Nippon Sweetie's profile


โพสท์โดย: Nippon Sweetie
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
60 VOTES (4/5 จาก 15 คน)
VOTED: อาราเล่จัง, คุณชายเซี่ยงชุน, ฮามอย, inoi, ตาตุ้ม, นางเบิร์ด, พูดไปก็เท่านั้น, B u s, ป้าสวย, ริเชริว, Bran Stark, Nippon Sweetie
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
ช็อตฮาประชาชี : บ้านญาติบรรยากาศแบบนี้ ต้องหาคนมานอนเป็นเพื่อนหน่อยเน่อ ไม่งั้นหลอนแน่ๆ3 นักษัตรที่การเงินเด่น มีโชคด้านการลงทุน เสี่ยงดวงช่วงนี้ขำสุดซอย..ฮาก๊าก..คลายเครียด!เมื่อคุณยายขอแจม "ASOKA MAKEUP"..แบบนี้สิของแทร่!
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
ทางกัมพูชา และ จีนจัดงานโชว์ศิลปะการต่อสู้ กังฟู + โบกาตอร์ ตอนแรกหลายคนนึกว่า จะเอามาสู้ๆกัน อ้อ ไม่ใช่ มาโชว์กระบวนท่าการแสดงเฉยๆ พอมีคนดูอยู่เหมือนกันเด้ออดีตหัวหน้าพรรคคนดัง ย้ายซบ ปชป. ตอบแทนบุญคุณช่วยเป็น สส. สมัยแรกเขมรเคลมอีก? อ้าง ข้าวเหนียวทุเรียน คือขนมดั้งเดิมของเขมรโบราณ!ตอนเรียนกับตอนทำงานเต่างกันแค่ไหน?
ตั้งกระทู้ใหม่