หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

แผ่นดิน2กษัตริย์ สู่เหตุการณ์ วังหลวง-วังหน้า

โพสท์โดย Crown Clown


ซ้าย- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขวา- พระเจ้าบวรวงศ์เธอฯ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญดังที่ทราบกันดีแล้วว่า ครั้งหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ราชวงศ์วงศ์จักรีได้มีพระเจ้าอยู่หัวถึงสองพระองค์ครองราชสมบัติปกครองประเทศร่วมกัน คือ สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่4) ทรงมีพระอนุชา (น้องชาย) อยู่หนึ่งพระองค์นามว่า "สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑามณี" ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงให้ความรักและเมตตาต่อพระอนุชาองค์นี้มาก และพระอนุชาเองก็ทรงให้ความรักและเคารพต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ผู้เป็นพี่ชายเช่นกัน ทั้งสองพระองค์เป็นพี่น้องที่ประสูติจากแม่เดียวกัน ประทับร่วมกัน ผ่านสุขร่วมทุกข์กันมาโดยตลอด
ด้วยความรักของพี่น้องที่มีต่อกัน ประกอบกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงมีวิชาความรู้ทางโหราศาสตร์ พระองค์เห็นว่าดวงพระชะตาของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑามณีนั้นแข็งแกร่งมาก บารมีไม่ได้น้อยไปกว่าพระองค์เลย ตัวของสมเด็จฯเจ้าฟ้าจุฑามณีนั้นก็รับราชการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นถึงผู้บัญชาการกรมทหารปืนใหญ่ กรมทหารแม่นปืน เป็นต้น นับว่าประสบการณ์มีมากนัก หากยกขึ้นเป็นกษัตริย์คู่กับพระองค์แล้วไซร้ ก็จะเป็นผลดีต่อราชสำนักสืบไป
พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการสถาปนาพระเกียรติยศ สมเด็จฯเจ้าฟ้าจุฑามณี ขึ้นเป็นพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า มีพระราชพิธีบวรราชาภิเษก ทรงรับพระบวรราชโองการให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 เฉลิมพระปรมาภิไธยจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว"
ในต้นปี พ.ศ. 2408 สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงมีพระอาการประชวรที่หาสาเหตุพระโรคได้ไม่แน่ชัด พระจอมเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทับเยี่ยมไข้ที่วังหน้า (ธรรมศาสตร์) เป็นประจำทุกวัน ดูแลพระอนุชาจนนาทีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ จนเวลาเช้าย่ำรุ่ง ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคต รวมพระชนมพรรษา 58 พรรษา หลังจากนั้นเพียง 3 ปีเศษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ก็สวรรคต สิ้นสุดแผ่นดินสองกษัตริย์




 

 

กำเนิดรอยร้าว ระหว่างลูกพระจอมกับลูกพระปิ่น

เหตุการณ์หลังการสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
1. ในที่ประชุมพระราชวงศ์และขุนนางได้มีมติเอกฉันท์เห็นควรให้ยกราชสมบัติตกแก่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า รัชกาลที่4 คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 5 พระนามว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นพระชนมายุ 15 พรรษา ปกครองพระบรมหาราชวัง หรือวังหลวง

2. ในที่ประชุมพระราชวงศ์และขุนนางได้มีมติเอกฉันท์เห็นควรให้ยกตำแหน่งกรมพระราชวังบวร(พระมหาอุปราช,วังหน้า) แก่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้า พระนามว่า พระเจ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายอดยิ่งประยูรยศ ขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ขณะนั้นพระชนมายุ๓๑ พรรษา ปกครองพระราชวังบวร หรือวังหน้า(ธรรมศาสตร์)
ในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ. 2417 พระองค์ทรงริเริ่มปฏิรูปการปกครองประเทศโดยการดึงอำนาจเข้าศูนย์กลาง ทรงตั้งระบบหอรัษฎากรพิพัฒน์ (ปัจจุบันคือ กระทรวงการคลัง) เพื่อรวบรวมการเก็บภาษีทั้งหมดมาไว้ในที่เดียว ซึ่งทำให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่บางท่านไม่พอใจ เพราะกระทบต่อการเก็บรายได้ โดยเฉพาะเจ้าวังหน้าที่แต่เดิมนั้นมีรายได้ถึง 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด ในที่สุดก็มีข่าวว่าวังหน้าริเริ่มสะสมกำลังทหารซึ่งมีมากถึง 2,000 นาย สถานการณ์ทั้ง 2 วังเริ่มตึงเครียด ความสัมพันธ์ของวังหลวงและวังหน้าได้ตัดขาดลงบางส่วน ชาวบ้านประชาชนหวั่นเกรงว่าอีกไม่นานต้องเกิดสงครามระหว่าง กษัตริย์กับอุปราชเป็นแน่

แต่แล้ว!!ในปีเดียวกันนั้นเวลาประมาณห้าทุ่มเศษ ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่วังหลวงซึ่งเป็นจุดอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากอยู่ใกล้คลังแสงและวัดพระแก้ว ในเวลาเดียวกันนั้นก็พบเหล่าทหารวังหน้าที่ดูเหมือนจะบังเอิญมาประจำการอยู่บริเวณรอบๆจุดเกิดเหตุ และพยายามที่จะเข้ามาช่วยดับไฟแต่กับมีอาวุธติดกายมาด้วย ทหารวังหลวงเห็นเข้าจึงขัดขวางและปฏิเสธความช่วยเหลือ

 

 

ซ้าย- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขวา- พระเจ้าบวรวงศ์เธอฯ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

หลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในวังหลวงผ่านไป สถานการณ์ยิ่งทวีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น ตึกรามบ้านช่องการค้าขายเงียบสนิท เวลากลางวันไม่ต่างอะไรกับเวลากลางคืน ชาวบ้านในเกาะรัตนโกสินทร์ต่างพากันร่ำลือไปต่างๆนาๆ ไม่นานนักวังหลวงจึงเกณฑ์ทหารราชองครักษ์ออกมาล้อมวังพร้อมติดอาวุธลาดตระเวนตลอดทั้งวันทั้งคืน กรมพระราชวังบวรฯแห่งวังหน้าเห็นกาลเป็นเช่นนั้นจึงบัญชาการทหารราชองครักษ์ออกมาล้อมวังเช่นกัน นับจำนวนพลได้ 600 นาย

ปัญหาต่างๆยังไม่ทันคลี่คลาย ก็มาปรากฏตัวแปรสำคัญของวิกฤตการณ์ครั้งนี้อีก 1 คน (มีกล่าวไว้ในบางช่วงของหนังสือ โครงกระดูกในตู้ โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) คือ หม่อมเจ้าหญิงสายวังหลวง พระนามว่า หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช เจ้าหญิงผู้มีอุปนิสัยเด็ดเดี่ยว ปราดเปรียว แตกต่างไปจากราชนารีในสมัยนั้น ครั้นเป็นสาวแรกรุ่นได้รับการหมั้นหมายให้ไปเป็นชายาเอกของ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล แต่มารู้ภายหลังว่าพระองค์เจ้าคัคณางคยุคลมีหม่อมอยู่แล้วในวัง จึงมิทรงยอม และโยนสินสอดทองหมั้นทิ้งหน้าต่างตำหนักเรี่ยราดไปกับพื้น จนพระองค์เจ้าคัคณางคยุคลต้องให้มหาดเล็กมาเก็บคืนไป จากนั้นไม่นานหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดจึงเสกสมรสกับ พระองค์เจ้าชายเฉลิมลักษณ์ ผู้เป็นพระอนุชา (น้องชาย) ของกรมพระราชวังบวรฯ หม่อมเจ้าฉวีวาดจึงเป็นสะใภ้วังหน้าอย่างเต็มตัว เริ่มเอาพระทัยออกห่างจากวังหลวงขึ้นตรงกับวังหน้า ในวันเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่วังหลวง อยู่ๆท่านหญิงฉวีวาดก็ว่าจ้างเรือสำเภาขนสมบัติทิ้งพระสวามีหนีไปยังเขมร เหมือนกับว่าไปทำความผิดร้ายแรงรู้เห็นเป็นใจในเรื่องที่เกิดขึ้น

เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ยิ่งตอกย้ำในข่าวที่ร่ำลือ จนแพร่กระจายไปจนถึงวังหน้า ว่า! พระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 5 จะบัญชาการให้ทัพวังหลวงบุกเข้าตีวังหน้าเพื่อจะจับตัวกรมพระราชวังบวรฯให้ได้ เมื่อทางวังหน้าได้ข่าวมาเช่นนั้น เหล่าพระราชวงศ์ และขุนนางของวังหน้าจึงทูลเชิญกรมพระราชวังบวรฯให้เสด็จหนีไปยังบริเวณท่าน้ำ(ท่าน้ำธรรมศาสตร์)โดยเรือพระที่นั่งกลไฟทันทีโดยมีเจ้าคุณจอมมารดาเอมผู้เป็นแม่และพระขนิษฐากับคนสนิทรวมแล้วกว่า 6 คน ล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปขึ้นยังท่าบางรักเพื่อขอลี้ภัยอยู่ในสถานทูตประเทศอังกฤษ เนื่องจากพระองค์ทรงรู้จักมักคุ้นกับนายน๊อกซ์ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งกงสุลอยู่ ทางสถานทูตประเทศอังกฤษให้การต้อนรับเป็นอย่างดีและในคืนนั้นเองทางสถานทูตก็ส่งเรือกลไฟไปรับเจ้านายที่ยังอยู่ในวังหน้าเข้าประทับยังสถานทูตอีกด้วย


 

 

ซ้าย - กรมพระราชวังบวรฯ ขวา- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (ทูลกระหม่อมใหญ่)

หลังจากที่กรมพระราชวังบวรฯ ได้อ่านพระราชหัตถเลขาที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ส่งมาแล้วนั้น พระองค์จึงมีพระราชสารเชิงเป็นข้อเรียกร้องส่งกลับไปยังวังหลวง โดยมีใจความสำคัญบางช่วงดังนี้
 
..อย่าต้องไล่บ่าวไพร่ข้าหลวงออกจากวังหน้าเลย ให้คงไว้ดังเดิมข้าพเจ้ามิประสงค์ที่จะเห็นบ่าวพลัดนาย แลขุนนางข้าราชการท่านใดเห็นว่ามีความผิดก็ขอให้ทางวังหลวงดำเนินโทษได้ตามหลักความยุติธรรม ภาษีอากรที่วังหน้าเคยเก็บได้มาแต่ต้นแลสิ่งของทรัพย์สินที่หามาได้นั้นขอให้คงไว้ดังเดิม อย่าริบรอน....เมื่อพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงวินิจฉัยถึงพระราชสารฉบับนี้แล้ว ทรงโปรดให้ สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหามาลา และคุณชายช่วง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) รวมถึงเสนาบดีทั้งหลายประชุมปรึกษาหารือเพื่อนำข้อเรียกร้องนี้มาพิจารณาว่าข้อความใดบ้างที่ควรจะยอมตามพระประสงค์ของกรมพระราชวังบวรฯ หลังจากนั้นก็มีราชสารประนีประนอมกันอยู่หลายฉบับ จนกระทั่ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ในที่สุดฝ่ายวังหลวงจึงมีพระราชสารอัญเชิญให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จกลับคืนเข้าประทับยังวังหน้าดังเดิม
ในการเสด็จกลับของกรมพระราชวังบวรฯ นั้นพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระเกียรติยศเต็มที่ โปรดให้จัดขบวนไปรับเสด็จ และจัดเรือเก๋งส่วนพระองค์ไปรับกรมพระราชวังบวรฯถึงสถานทูตอังกฤษอย่างสมพระเกียรติ แลเชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ เข้ายังพระบรมหาราชวังโดยขบวนพระเกียรติยศแห่แหนเข้ายังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประทับยังเบื้องหน้าองค์พระแก้ว แล้วให้กรมพระราชวังบวรฯเข้าถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามโบราณราชประเพณี ทั้งยังทรงโปรดให้มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการใหญ่ นับเป็นการปิดฉากความบาดหมางระหว่างวังหลวง และวังหน้าลงโดยปราศจากความรุนแรง
หลังจากงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และถือน้ำพิพัฒน์สัตยาผ่านไปแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยพระราชอำนาจในการแต่งตั้งองค์รัชทายาทเพื่อเป็นการปูทางในอนาคต หากพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสถาปนาพระราชโอรสเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ของพระองค์สืบราชสมบัติต่อไป โดยมิต้องไปเป็นวังหน้า

เพราะในประวัติศาสตร์ราชวงศ์นั้น วังหลวง และวังหน้ามักจะมีความขัดแย้ง โดยเฉพาะการซ่องสุมกำลังพล และความระแวงต่อกันในเรื่องการสืบราชบัลลังก์ เพราะแต่เดิมนั้นหากพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตลง พระราชวงศ์ที่มีอำนาจรองจากพระเจ้าอยู่หัว และมีกองกำลังอยู่ในมือก็จะขึ้นครองราชบัลลังก์ทันที ซึ่งพระราชวงศ์พระองค์นั้นก็คือ พระมหาอุปราชแห่งวังหน้านั่นเอง พระมหาอุปราช หรือวังหน้าคือใคร ส่วนใหญ่ก็คือพระราชวงศ์ที่มีความใกล้ชิดทางเครือญาติมากที่สุด มีความรู้ความสามารถมากที่สุด เช่น พระอนุชาในพระเจ้าอยู่หัว (น้องชายกษัตริย์) หรือพระปิตุลาในพระเจ้าอยู่หัว (ลุง หรืออาของกษัตริย์) หรือพระภาดา (พี่ชาย หรือน้องชายในลักษณะลูกพี่ลูกน้องของกษัตริย์) ดังนั้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใดๆเริ่มมีพระอาการประชวรมิสู้ดีนัก พระเจ้าอยู่หัวจะรับสั่งให้เหล่าทหารวังไปล้อมตำหนักที่ประทับของพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชายของพระองค์ไว้ เพื่อป้องกันการลอบปลงพระชนม์ แลแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่าง อากับหลาน ลุงกับหลาน พี่กับน้อง ขุนนางกับกษัตริย์ เป็นต้น

ไม่นานนัก ในปี พ.ศ. 2428 กรมพระราชวังบวรฯ ก็เสด็จทิวงคตลงด้วยพระชนมายุเพียง 48 พรรษา พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มิทรงสถาปนาพระราชวงศ์พระองค์ใดขึ้นเป็นพระมหาอุปราชไปประทับยังวังหน้าอีกเลย และโปรดให้พระราชวงศ์ฝ่ายใน (พระราชวงศ์ผู้หญิง)วังหน้าย้ายเข้ามาประทับยังวังหลวง จากนั้นจึงสถาปนาพระราชโอรส ซึ่งเป็นพระราชโอรสเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ผู้เป็นพระอัครมเหสี ขึ้นเป็นองค์รัชทายาทพร้อมกับสถาปนาพระราชอิสริยยศคือ "สยามมกุฎราชกุมาร" ดังมีพระนามว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร" ชาววังออกพระนามว่า ทูลกระหม่อมใหญ่ ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมมายุเพียง 7 พรรษาเท่านั้น นับเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีการสถาปนาตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร ให้เป็นตำแหน่งรัชทายาท แทนตำแหน่งพระมหาอุปราช หรือวังหน้า

ทูลกระหม่อมใหญ่พระองค์นี้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงหมายมั่นปั้นมือให้เป็นพระเจ้าอยู่หัวองค์ต่อไป โปรดที่จะให้ประทับอยู่เคียงข้างพระวรกายเพื่อเรียนรู้งานราชการเสมอ โปรดให้ออกรับฎีกาด้วยพระองค์เองตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ในขณะเดียวกันนั้นพระราชโอรสพระองค์อื่นๆ พระเจ้าอยู่หัวจะส่งไปเล่าเรียนยังต่างประเทศเพื่อที่จะกลับมาเป็นกำลังสำคัญคอยช่วยเหลืองานพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ และเมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้ว พระเจ้าอยู่หัวจะสระราชสมบัติไปประทับยังวังสวนดุสิตคอยเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่

แต่เป็นที่น่าเสียดาย ทูลกระหม่อมใหญ่ทรงประชวรด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เสด็จสวรรคตเมื่อวันศุกร์ ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 ขณะมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา 6 เดือน นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของราชวงศ์จักรี เพราะทูลกระหม่อมใหญ่พระองค์นี้ทรงเป็นที่รักใคร่ของชาววัง พระองค์ทรงเขียนบันทึกประจำวันเป็นภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เล่ากันว่า สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีผู้เป็นพระราชมารดาทรงเสียพระทัยมากถึงขนาดนำฉากไปกั้นเป็นที่ประทับ เพื่อบรรทมเฝ้าพระบรมศพในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และการสวรรคตของทูลกระหม่อมใหญ่ในครั้งนี้ก็ส่งผลให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาสูญเสียตำแหน่งอัครมเหสีไปด้วย

ด้านหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช ที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้วนั้น หลังจากที่ท่านหลบหนีไปยังเขมร ครั้งเวลาล่วงเลยไป ท่านจึงตัดสินพระทัยคืนสู่สยาม ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 โดยหม่อมเจ้าฉวีวาดได้มีบุตรชายกับชาวเขมร 1 คน ชื่อนุด และทรงบวชเป็นรูปชี ใช้พระชนม์ชีพอย่างสงบ และสิ้นชีพิตักษัยเมื่อมีพระชนมายุได้ 80 ปี

 

ที่มา Fanpage คลังประวัติศาตร์ไทย

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
Crown Clown's profile


โพสท์โดย: Crown Clown
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
72 VOTES (4/5 จาก 18 คน)
VOTED: paktronghie, toooooooootay, เคน กระทิงทอง, Naphat, พระเจ้ามายา, ginger bread, amzabzaa, llHackll, Berry GL, UAV, bgs, jajarjajar, บูเก้จัง
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
iPhone รุ่นประหยัดมาแล้ว!พ่อของ "น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์" เสียชีวิตแล้วชาวลาวไม่ทน! หลังหนุ่มจีนโพสทิ้งเงินกีบลงในถังขยะ ทำคนลาวถึงกับไม่พอใจ?ของในร้านนี้หยิบได้ฟรีทุกชิ้น5 อันดับคณะที่เรียนยากที่สุด4สำนักดัง ให้เลขชนกันอีกแล้ว งวด 2 พฤษภาคม 2567วันนี้ที่รอคอย! กอดทั้งน้ำตา..หนุ่มตามหาแม่แท้ๆ นานกว่า 29 ปีจนเจอ"ลาบูบู้" ไม่รอด โดนเขมรเคลมเรียบร้อยแล้ว..บอกรากเหง้ามาจาก "หน้ากาล"เพื่อน "ออกัส" ซัดแหลก..พระเอกดังต่างหาก ถูกข่มขู่ให้กราบเท้า!!
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
พ่อของ "น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์" เสียชีวิตแล้วเขมรอ้างศิลปะป้องกันตัว "โบกาตอ" มีมากว่า 2,000 ปีแล้ว! หลักฐานจากภาพสลักโบราณโดยบรรพบุรุษเขมร?เพื่อน "ออกัส" ซัดแหลก..พระเอกดังต่างหาก ถูกข่มขู่ให้กราบเท้า!!ปูทะเลที่หนักที่สุดในโลก
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
ดอกอัญชัน พืชที่มีต้นกำเนิดอยู่ในแถบอเมริกาใต้อันตราย! อย่าใช้ "พัดลมคล้องคอ"..เพราะอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งได้5 อันดับคณะที่เรียนยากที่สุดปูทะเลที่หนักที่สุดในโลก
ตั้งกระทู้ใหม่