ความเป็นมาของลายไทย
จากความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา เป็นเหตุสำคัญให้ช่าง หรือศิลปินประดิษฐ์ลายไทยโดยได้แนวคิดมาจาก ดอกบัว พวงมาลัย ควันธูป และเปลวเทียน เป็นต้น นำมาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายกนก ลายเปลวเพลิง ลายใบเทศ ลายพฤษชาติ ฯลฯ. จึงได้มีการศึกษาถึงที่มาของลายต่าง ๆ ดังนี้ คือ
1.การพัฒนาลายมาจากดอกบัว เป็นการนำรูปดอกบัวชนิดต่าง ๆ เช่น บัวหลวง บัวสัตตบงกช บัวสัตตบุษย์ ฯลฯ. มาพัฒนาโดยใช้จินตนาการเชิงสร้างสรรค์ด้วยการแบ่งครึ่งดอกบัว การรวมดอกบัวเข้าด้วยกันทำให้เกิดลายกนกสามตัวและคลี่คลายเป็นลายอื่น ๆ ต่อไป
2.การพัฒนามาจากลักษณะของเปลวไฟ เป็นการนำลักษณะการเคลื่อนไหวของเปลวไฟ เช่น เปลวไฟของกองไฟ เปลวไฟของเทียนไข เปลวไฟของคบเพลิง ที่มีความพริ้วไหวมา สร้างสรรค์ให้เกิดลายที่สวยงาม
3.การพัฒนามาจากลักษณะของใบไม้ ส่วนมากจะเป็นใบ “ฝ้ายเทศ” เพราะเป็นใบไม้ที่มีรูปร่างรูปทรงที่สวยงาม มาสร้างสรรค์เป็นลายใบเทศ
4.การพัฒนามาจากลักษณะของดอกไม้ ได้แก่ ดอกพุดตาล ดอกจอก ดอกแก้ว ดอกมะลิ ดอกผกากรอง ดอกบานเย็น ดอกพังพวย เป็นต้น ซึ่งลายดอกไม้เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของลายไทย
5.การพัฒนามาจากลักษณะของใบผัก ที่นิยมใช้เขียนได้แก่ “ใบผักกูด” ซึ่งมีลักษณะกลมมล ไม่แหลมคม ช่างหรือศิลปินจึงนำมาสร้างสรรค์เป็นลวดลาย เช่น กนกผักกูด
6.การพัฒนามาจากลักษะของเถาวัลย์และไม้เลื้อย ทีมีการเกี่ยวพัน ลัดเลาะ การเลื่อนไหล ช่างหรือศิลปินจึงนำมาสร้างสรรค์ เป็นลายที่ต่อเนื่องกัน
การพัฒนามาจากลักษณะของสัตว์ ในลายไทยจะพบการผูกลายที่นำรูปแบบของสัตว์มาใช้ อาจเป็นรูปเหมือนจริงหรือดัดแปลงตามความคิดสร้างสรรค์ เช่น สัตว์ในป่าหิมพานต์
7.การพัฒนามาจากลักษณะของคน เนื่องจากในอดีตศิลปะไทยไม่นิยมเขียนภาพแบบเหมือนจริงแต่อาจใช้ลักษณะของคนแทนรูปเคารพของเทพเจ้าต่าง ๆ ในศาสนา เช่น พระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร ฯลฯ ทำให้ภาพคนในลายไทยไม่มีการแสดงกล้ามเนื้อเหมือนกับศิลปะแบบตะวันตก แต่จะเป็นภาพหรือลายที่มีลักษณะอ่อนช้อย สวยงาม ตามจินตนาการ
8.การพัฒนามาจากอิทธิพลของศิลปกรรมต่างชาติ ที่เด่นชัด ได้แก่ จีน ขอม เขมร เห็นได้จาก ลายฮ่อลายประแจจีน ลายใบแกนตัส ฯลฯ